ในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้เมื่อราว 800 ปีก่อน ชาวเคอเจีย (จีนแคะ) ซึ่งอพยพมาจากภาคเหนือและภาคกลางของประเทศมาลงหลักปักฐานในมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ได้สรรค์สร้างสถาปัตยกรรมแห่งภูมิปัญญาจากวัสดุธรรมชาติจนกลายเป็นบ้านทรงกลมและเหลี่ยมที่รู้จักกันในชื่อฝูเจี้ยนถู่โหลวที่เห็นแล้วชวนให้ทึ่งจริงๆ


ฝูเจี้ยนถู่โหลว (Fujian Tulou: 福建土樓)
ภาพ: National Geographic

"บ้านดินฝูเจี้ยนถู่โหลว" (Fujian Tulou: 福建土樓) หรือ "บ้านดินแห่งฝูเจี้ยน" (Fujian Earthen Structures) นั้นเป็นหมู่บ้านโบราณที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวคือเป็นบ้านจะมีทั้งทรงกลมและทรงสี่เหลี่ยมสูงหลายชั้นตั้งอยู่กระจัดกระจายตามจุดต่างๆในเขตภูเขาด้านทิศใต้และตะวันตกในเขตมณฑลหย่งติ้ง มณฑลฝูเจี้ยนของจีน

วัสดุหลักที่ใช้ในการสร้างนั้นมาจากไม้ไผ่สานและดินเหนียวแต่บ้านดินแห่งฝูเจี้ยนกลับมาความแข็งแรงทนทานมาก สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ โดยในปัจจุบันมีบ้านดินฝูเจี้ยนจำนวน 46 หลัง (จากจำนวนนับร้อย) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี 2008 จากองค์การยูเนสโก

ความมหัศจรรย์ของบ้านดินฝูเจี้ยนคือการออกแบบให้ตรงตามหลักฮวงจุ้ย โดยเฉพาะพื้นที่ตรงกลางบ้านจะถูกทำให้โล่งเพื่อให้แสงแดดส่องลงมาและอากาศถ่ายเทได้สะดวก ส่วนตัวบ้านก็สร้างให้มีหลายชั้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของหลายครอบครัวซึ่งดูแล้วเหมือนเป็นหมู่บ้านหรือชุมชนขนาดย่อมๆเสียมากกว่า

โครงสร้างภายในของบ้านที่สลับซับซ้อนประกอบไปด้วยห้องหับจำนวนนับสิบนับร้อยห้องที่มีการแบ่งสันปันส่วนกันอย่างลงตัว การเปิดช่องว่างตรงกลางนั้นทำให้เกิดการหมุดเวียนถ่ายเทอากาศได้ดี ในฤดูร้อนอากาศจะไม่อบอ้าว ส่วนในฤดูหนาวอากาศก็จะอบอุ่นสบาย เรียกว่าอยู่ได้ทุกฤดูซึ่งปัจจุบันก็ยังมีผู้คนอาศัยอยู่จริง