แม้จะไม่ใช่นักปราชญ์คนแรกแต่เมื่อกล่าวถึงนักปราชญ์ที่ได้รับการยกย่องสูงสุดจนเรียกได้ว่าเป็นมหาปราชญ์ก็คงหนีไม่พ้น "ขงจื๊อ" (Confucius, Kongzi) นักคิดและนักปราชญ์ที่สำคัญโดยหลักปรัชญาของท่านมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมจนกลายเป็นรากฐานในวิถีชีวิตของชาวจีนรวมทั้งอีกหลายประเทศในเอเชีย ปรัชญาขงจี๊อ


ขงจื๊อ (Confucius, Kongzi)

ขงจื๊อเกิดในแคว้นหลู่ (Lu) เมื่อวันที่ 27 เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ในปลายยุคชุนชิวซึ่งเป็นช่วงกลียุคที่บ้านเมืองมีแต่ศึกสงคราม ขงจื๊อมีชื่อเดิมว่า "ชิว" ชื่อรองว่า "จ้งหนี" บางครั้งชาวจีนจึงเรียกท่านว่า "ขงชิว" ส่วนคำว่า "จื๊อ" หรือ "จื่อ" นั้นเป็นคำที่ใช้เรียกผู้มีความรู้หรือนักปราชญ์ คำว่า "ขงจี๊อ" จึงหมายถึง "ท่านนักปราชญ์ขง"

เมื่ออายุ 3 ปี บิดาซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวท่านถึงแก่กรรม ท่านจึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือครอบครัวซึ่งค่อนข้างยากจน เมื่ออายุได้ 17 ปี มารดาของท่านก็จากไปอีกคน กล่าวกันว่าเดิมทีบรรพบุรุษของท่านเป็นผู้มีฐานะดีอยู่ในแคว้นซ้อง แต่ความไม่สงบทางการเมืองทำให้ต้องย้ายถิ่นฐานมายังแคว้นหลู่ สูญเสียที่ดินที่เคยครอบครองทำให้ฐานะยากจนลง

ขงจื๊อมีโอกาสเล่าเรียนศาสตร์แขนงต่างๆอันได้แก่ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ดาราศาสตร์และดนตรีจนกลายเป็นผู้รอบรู้คนหนึ่ง เมื่ออายุ 19 ปี ท่านได้แต่งงานและมีบุตรชายหนึ่งคน แต่ไม่มีหลักฐานใดกล่าวถึงภรรยาของท่าน

ด้วยความรู้ความสามารถบัดนี้ชื่อของขงจื๊อเริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชน ขงจี๊อคิดจะเอาดีทางราชการแต่ตำแหน่งที่ท่านได้รับไม่เหมาะกับความสามารถของท่านเลย ไม่นานก็ลาออกจากราชการมาเปิดสำนักสอนวิชาแขนงต่างๆให้กับประชาชนทั่วไปซึ่งนับเป็นบุคคลแรกในประวัติศาสตร์จีนที่สอนวิทยาการแก่ลูกศิษย์โดยไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ

ขงจื๊อกลับเข้ารับราชการอีกครั้งและไต่เต้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นพร้อมกับความเจริญของแคว้นหลู่ ขณะเดียวกันก็สร้างความหวาดระแวงแก่แคว้นข้างเคียงและเหล่าขุนนางที่ต้องสูญเสียผลประโยชน์จากนโยบายการปกครองของท่านและหาทางกำจัดท่านออกไปโดยทำให้เจ้าแคว้นหลงใหลในสุรานารีจนไม่สนใจบริหารบ้านเมือง

ขงจื๊อหมดหวังกับเจ้าแคว้นจึงตัดสินใจเดินทางไปยังแคว้นต่างๆโดยมีเหล่าลูกศิษย์ติดตามรับใช้ไม่ห่าง ท่านหวังว่าจะมีผู้ปกครองแคว้นใดแคว้นหนึ่งเห็นความสำคัญในตัวท่าน ตลอดเวลา 14 ปีแห่งการผจญภัยท่านได้ถ่ายทอดปรัชญาคุณธรรมของท่านสู่ความรู้สึกนึกคิดของบรรดาศิษย์และชาวบ้านจนกลายเป็นรากฐานการดำรงชีวิต กล่าวกันว่าท่านมีลูกศิษย์กว่า 3,000 คน โดยมี 72 คนที่เป็นศิษย์ชั้นมหาสาวก

ขงจื๊อกลับสู่แคว้นหลู่อีกครั้งในวัย 68 ปี ลู่อ้ายกงจาวแคว้นหลู่ส่งทูตมาเชิญท่านและแต่งตั้งท่านเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ท่านประจักษ์ว่าความสำเร็จของท่านไม่ใช่การเมืองแต่เป็นการศึกษา ท่านจึงทุ่มเทกำลังในบั้นปลายให้กับการศึกษา กระทั่งอายุ 73 ปี ท่านก็ล้มป่วยลงและถึงแก่มรณกรรมท่ามกลางศิษยานุศิษย์ที่เฝ้าดูแล