สมเด็จพระจักพรรดิยงเจิ้ง (Yongzheng Emperor: 雍正帝) พระนามเดิม "อิ้นเจิน" (Yinzhen: 胤禛) โอรสองค์ที่ 4 ขององค์จักรพรรดิคังซีที่เกิดจากสมเด็จพระพันปีหลวงกงเหริน (จักรพรรดินีเซี่ยวกงเหริน) พระราชสมภพ 13 ธันวาคม 1678 (สวรรคต 8 ตุลาคม ปี 1735) พระองค์เป็นพระราชบิดาของจักรพรรดิเฉียนหลง


จักรพรรดิยงเจิ้ง (Yongzheng Emperor: 雍正帝)
ภาพ: Scarlet Heart

ในบรรดาโอรสทั้งหมดของจักรพรรดิคังซี ยงเจิ้งมีพระปรีชาสามารถโดดเด่นโดยเฉพาะในด้านการบริหารและการวางแผนอันแยบยลที่เหนือกว่าโอรสองค์อื่นๆ เทียบกับรัชทายาทที่จักรพรรดิคังซีแต่งตั้ง (และถูกปลดออก) ยิ่งทำให้เห็นความแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

ช่วงเวลาหลายปีที่จักรพรรดิคังซีครองราชย์จนประชาราษฎร์เกิดความผาสุก ทว่าภายในรั้วบ้านของพระองค์กลับเต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นของเหล่าโอรสตลอดซึ่งเป้าหมายนั้นมิใช่อื่นไกลแต่เป็นราชบัลลังก์

แม้ในการชิงไหวชิงพริบกับพี่น้องจะแพ้บ้างชนะบ้างแต่สุดท้ายแล้วยงเจิ้งก็ได้เป็นจักรพรรดิองค์ที่สี่แห่งราชวงศ์ชิงตามราชโองการโดยชอบธรรม

มีการถกเถียงถึงยงเจิ้งว่าสรุปแล้วพระองค์ควรกับคำว่า "ทรราช" หรือ "มหาราช" กันแน่ ซึ่งยังไม่สามารถสรุปออกมาได้ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือพระองค์เป็นกษัตริย์ที่เด็ดเดี่ยวและเฉียบขาดมาก

เมื่อได้ขึ้นครองราชย์แล้วพระองค์ทำการปฏิรูปครั้งใหญ่ภายราชสำนักโดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมทำให้เหล่าเชื้อพระวงศ์และขุนนางที่โดนหางเลขเกิดความไม่พอใจ

สำหรับเรื่องที่ทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความไม่พอใจพระองค์อย่างเห็นได้ชัดคือการเรียกเก็บภาษีที่เข้มงวดมากๆ

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่านั่นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปกครองของจักรพรรดิองค์คังซีที่ทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อซื้อใจประชาชนจนท้องพระคลังร่อยหรอ จักรพรรดิยงเจิ้งที่เข้ามารับช่วงต่อจึงต้องเข้มงวดเรื่องภาษีอย่างไม่มีทางเลือก

ประเด็นการขึ้นครองราชย์ของหย่งเจิ้งนั้นมีเรื่องเล่าเกี่ยวการปลอมแปลงราชโองการที่ซ่อนเอาไว้หลังแผ่นป้ายหน้าตำหนัก

กล่าวว่าจักรพรรดิคังซีได้เขียนราชโองการแต่งตั้งให้องค์ชาย 14 ได้เป็นผู้สืบทอด แต่หย่งเจิ้งและพวกพ้องได้ทำการปลอมแปลงแก้ไขจากตัวอักษร 14 (十四) ให้เป็นองค์ชาย 4 (于四) แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้มีหลักฐานยืนยัน

กระนั้นก็มีนักวิชาการที่เห็นแย้งกันเรื่องราวนี้ว่าไม่น่าจะเป็นไปได้

อนึ่งแม้คังซีจะย่างเข้าช่วงปลายรัชกาลแล้วแต่ยังเป็นคนฉลาดจึงไม่น่าแพ้ภัยให้กับกลอุบายตัวเอง อีกทั้งคังซีก็ยอมรับความสามารถของยงเจิ้งมาก ประกอบกับการที่ชาวแมนจูเป็นชนเผ่าต่างชาติที่เข้ามาปกครองจีนย่อมทำให้ชาวจีนแท้ๆเกิดความไม่พอใจจึงได้สร้างเรื่องราวใส่ร้ายให้เกิดความเสื่อมเสีย