ย้อนกลับไปในยุคแรกที่มีการกล่าวยกย่องถึงยอดวรรณกรรมของจีน "จินผิงเหมย" (Jin Ping Mei: 金瓶梅) หรือ "บุปผาในกุณฑีทอง" (The Plum in the Golden Vase) คือ 1 ในสี่ยอดวรรณกรรมจีนยุคแรก ทว่าการที่เนื้อหากล่าวเน้นไปที่เรื่องทางโลกีย์มากเกินไปทำให้ถูกตัดออกไปแล้วให้เรื่องความฝันในหอแดงเข้ามาแทนที่


จินผิงเหมย (Jin Ping Mei) / บุปผาในกุณฑีทอง (The Plum in the Golden Vase)

จินผิงเหมยถูกประพันธ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงด้วยสำนวนภาษาที่งดงามแต่ไม่สามารถระบุชื่อเสียงเรียงนามจริงของผู้ประพันธ์ได้ ส่วนเนื้อหานั้นจะเป็นการขยายความจากซ้องกั๋งในบทของนางพานจินเหลียน แต่การที่เนื้อหาเน้นไปในเรื่องฉาวคาวโลกีย์ทำให้ถูกต่อต้านจนกลายเป็นหนังสือต้องห้ามไป

สำหรับเรื่องราวในจินผิงเหมยจะกล่าวถึงความสัมพันธ์สวาทโดยตัวเอกฝ่ายชายนามว่า ‘ซีเหมินชิ่ง’ (Ximen Qing) เขาร่ำรวยมีอิทธิพลขึ้นมาอย่างล้นเหลือด้วยการแต่งงานกับเศรษฐีนีม่ายและเริ่มขยายอำนาจกิจการจนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในเมืองซึ่งแม้แต่เจ้าหน้าที่ของทางการยังต้องยอมสยบให้กับอำนาจของเขา

ตัดมาทางด้านตัวละครฝ่ายหญิงที่สำคัญจะมีสองคน คือ ‘พานจินเหลียน’ (Pan Jinlian) สาวดาวยั่วแต่มีสามีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ซึ่งดูยังไงก็ไม่เข้ากับนางเอาเสียเลย คนสุดท้ายคือ ‘หลี่ผิงเอ๋อร์’ (Li Ping'er) สตรีผู้มีความงามยั่วยวนไม่แพ้พานจินเหลียนโดยนางนั้นเป็นภรรยาของพี่ชายร่วมสาบานของซีเหมินชิ่ง

ความสัมพันธ์สวาทของซีเหมินชิ่ง พานจินเหลียนและหลี่ผิงเอ๋อร์เริ่มต้นขึ้นโดยไม่สนใจหลักศีลธรรม ซีเหมินชิ่งต้องใช้ความเป็นชายในการปรนเปรอสนองความต้องการให้ทั้งสอง แต่ด้วยการเป็นชายที่รักสนุกทำให้เขามิได้หยุดอยู่เพียงแค่สองนาง สุดท้ายเรื่องราวจึงได้จบลงด้วยความตกต่ำที่มาเยือน

สำหรับจินผิงเหมยนั้นในฉบับภาษาไทยมีการแปลจนรู้กันอย่างกว้างขวางในชื่อ ‘บุปผาในกุณฑีทอง’ แต่ก็ยังมีอีกฉบับใช้ชื่อว่า ‘ดอกเหมยในแจกันทอง’ สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาแต่ไม่อยากอ่านก็ลองหาในฉบับที่มีการสร้างเป็นภาพยนตร์มาดูก็แล้วกันซึ่งรับรองว่าดูแล้วสยิวกิ้วจนพอจะเข้าใจว่าทำไมในยุคสมัยหนึ่งจินผิงเหมยจึงกลายเป็นวรรณกรรมต้องห้าม