จูล่ง (Zhao Yun: 子龙) ยอดขุนพลผู้เป็นยิ่งกว่าแขนขาของเล่าปี่จากวรรณกรรมสามก๊ก เนื่องด้วยวีรกรรมอันห้าวหาญชาญชัยและตลอดช่วงชีวิตที่ไม่เคยมีรอยด่างพร้อยให้ได้เห็น เรียกได้ว่าจูล่งถือเป็นต้นแบบของวลี "วีรบุรุษ"


จูล่ง (Zhao Yun: 子龙)
ภาพ: จูล่ง เทพเจ้าสงคราม

จูล่งเป็นชาวเมืองเสียงสาน ชื่อเดิมคือ "เตียวหยุน" (ไม่ระบุปีเกิดที่ชัดเจน) เขาเป็นหนึ่งในแม่ทัพคนสำคัญของเล่าปี่ โดยภาพที่ทำให้นึกถึงจูล่งคือนักรบในชุดเกราะสีเงินถือทวนนั่งอยู่บนหลังม้าสีขาว เขาร่วมรบกับทัพเล่าปี่ตั้งแต่วัยหนุ่มจนชราซึ่งนับเป็นคนสุดท้ายในบรรดา 5 ขุนพลพยัคฆ์ (อีก 4 คนคือ กวนอู เตียวหุย ฮองตงและม้าเฉียว) ที่เสียชีวิตโดยจูล่งเป็นคนเดียวที่เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อปี 229 บนเตียงนอนของตัวเอง

เส้นทางสู่การเป็นยอดขุนพลของจูล่งเริ่มต้นด้วยการเป็นทหารของอ้วนเสี้ยว (ผู้เป็นทั้งเพื่อนสนิทของโจโฉและผู้นำทัพต่อต้านตั๋งโต๊ะ) แต่เพราะความที่อ้วนเสี้ยวไม่ใช่คนที่มีคุณธรรมเพียงพอทำให้จูล่งตัดสินใจจากลาแล้วไปอยู่กับกองซุนจ้าน (เจ้าเมืองปักเพ้งและเป็นเพื่อนของเล่าปี่) และช่วยเหลือกองซุนจ้านทำศึกกับอ้วนเสี้ยว วีรกรรมครั้งสำคัญของจูล่งสมัยที่อยู่กับกองซุนจ้านคือการต่อสู้กับบุนทิว (ทหารเอกของอ้วนเสี้ยว) เพื่อช่วยเหลือกองซุนจ้านที่กำลังถูกต้อนจนมุม

แม้จะดูเหมือนได้นายที่ดีแต่แล้วกองซุนจ้านก็สติวิปลาสเป็นผลให้พ่ายแพ้แก่อ้วนเสี้ยวจนได้ จูล่งผู้ไร้นายจึงร่อนเร่พเนจรมาถึงเขาโจงิวสันและสังหารหัวหน้าโจรป่าที่คิดจะมาขโมยม้าของตนก่อนที่จะขึ้นเป็นหัวหน้ากองโจรคนใหม่ แต่หัวหน้าโจรที่เขาสังหารไปนั้นไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นคนของกวนอู เมื่อกวนอูได้รับแจ้งข่าวจึงรีบรุดมายังที่ตั้งกองโจรด้วยตัวเองจนรู้ความจริงที่เกิดขึ้นและจากนั้นจูล่งก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทัพเล่าปี่

สำหรับวีรกรรมอันเลื่องชื่อของจูล่งที่หลายคนรู้จักกันมากคือการบุกเดี่ยวชิงตัว "อาเต๊า" (บุตรของเล่าปี่ที่เกิดจากนางกำฮูหยิน) ซึ่งได้มีการนำมาบรรจุอยู่ในบทเรียนภาษาไทย โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้นทัพของเล่าปี่กำลังหนีการตามล่าของโจโฉจนเกิดพลัดหลงกับขบวนของนางบิฮูหยิน (ภรรยาคนที่สองของเล่าปี่) ที่มีอาเต๊าในวัยทารกอยู่ด้วย ขบวนของนางบิฮูหยินจึงติดอยู่ในขบวนทัพของโจโฉ

ด้านจูล่งเมื่อรู้ความจึงไม่รอช้าบุกเดี่ยวฝ่าดงทหารของโจโฉจนเจอตัวอาเต๊า แม้จะไม่สามารถช่วยนางบิฮูหยินที่ขาบาดเจ็บและโดดบ่อน้ำจบชีวิตตัวเองได้ แต่วีรกรรมความกล้าในครั้งนั้นทำให้โจโฉชื่นชมจูล่งถึงกับเอ่ยถามนามด้วยตัวเองและสั่งไม่ให้ยิงเกาทัณฑ์ใส่ เมื่อจูล่งนำตัวอาเต๊ามาถึงมือเล่าปี่ก็ทำให้เล่าปี่โกรธมากถึงกับจะโยนอาเต๊าลงพื้นเพราะอาเต๊าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ตัวเองเกือบต้องเสียจูล่งไป

แม้จะไม่ได้สาบานตนเป็นพี่น้องเหมือนกวนอูกับเตียวหุย แต่ถ้าให้เปรียบแล้วจูล่งก็ไม่ต่างไปจากน้องสี่เขาจะเรียกกวนอูว่า "พี่สอง" และเรียกเตียวหุยว่า "พี่สาม" แต่กลับเรียกเล่าปี่ว่า "นายท่าน" โดยตลอดชีวิตการกรำศึกที่ผ่านมาเขาไม่เคยพ่ายแพ้ แม้ร่างกายจะเข้าสู่วัยชราแต่ความองอาจของจูล่งกลับไม่ลดลงแม้แต่น้อย เขายังคงควบม้าควงทวนด้ามเก่งออกรบและเอาชนะขุนศึกหนุ่มๆได้สบายสมกับเป็นหนึ่งใน 5 ขุนพลพยัคฆ์ของเล่าปี่

ฝีมือของจูล่ง
• ในเรื่องฝีมือการรบของจูล่งนั้นถือว่าไม่เป็นสองรองใครในแผ่นดิน บางคนยกว่าแข็งแกร่งเทียบเท่าลิโป้ รวมทั้งในอดีตสมัยรับใช้กองซุนจ้าน จูล่งเคยทะเลาะกับเตียวหุยจนเกือบสังหารเตียวหุยแต่กวนอูมาห้ามเอาไว้ หลายคนจึงคิดว่าในบรรดา 5 ขุนพลพยัคฆ์ของเล่าปี่ จูล่งถือว่าเป็นนักรบที่แข็งแกร่งและเพียบพร้อมที่สุด (อันนี้แล้วแต่คนจะคิด) แต่เป็นที่น่าสงสัยเช่นกันว่าถ้าจูล่งเจ๋งขนาดนั้นทำไมขงเบ้งจึงไม่เลือกให้จูล่งทำงานใหญ่...