เรื่องราวของบุคคลสำคัญในรัชสมัยจักรพรรดิกวังซวี่แห่งราชวงศ์ชิงที่ปกครองแผ่นดินจีนและยังคงเป็นที่กล่าวขานมาจนถึงปัจจุบัน นอกเหนือจากตำนานของพระนางซูสีไทเฮาผู้กุมอำนาจแล้วคงหนีไม่พ้นเรื่องราวของ "สนมเจิน" (Consort Zhen: 珍妃) หรือ "มเหสีไข่มุก" (Pearl Concubine) สตรีผู้มีจุดจบอันน่าเศร้า


สนมเจิน (Consort Zhen): มเหสีไข่มุก (Pearl Concubine)

สนมเจิน (พระมเหสีเค่อชุ่น) รู้จักกันในพระนามเดิมว่า "ทาทารา" (Tatara) ซึ่งเป็นชื่อเผ่าของชาวแมนจู สนมเจิน (เจินเฟย) ประสูติเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 1876 แม้จะเป็นหญิงชาวเผ่าที่ยึดมั่นในขนมธรรมเนียมโบราณแต่พระนางกลับมีความคิดที่ก้าวหน้าและสนพระทัยในศิลปวิทยาการของต่างชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตก

ปี 1889 ทาทาราในวัย 13 ปี ถวายตัวเข้าสู่วังหลวงพร้อมกับพี่สาวโดยนางได้รับนาม "เจิน" (Zhen) ส่วนพี่สาวได้รับนาม "จิน" (Jin) ด้วยบุคลิกและแนวคิดแปลกใหม่ทำให้เจินเป็นที่โปรดปราณของจักรพรรดิกวังซวี่อย่างมาก กระทั่งฤดูใบไม้ผลิปี 1894 สองศรีพี่น้องก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสนม

ความสามารถที่โดดเด่นกว่าใครๆทำให้สนมเจินเป็นที่โปรดปราณของซูสีไทเฮาอย่างมากถึงกับส่งเสริมให้สนมเจินได้เรียนศิลปะและดนตรีจากชาวตะวันตก ส่วนจักรพรรดิกวังซวี่ก็รักสนมเจินหมดหัวใจ แต่ไม่สามารถแต่งตั้งให้เป็นฮองเฮาได้เพราะซูสีไทเฮาเลือก "หลงยวี่" ซึ่งเป็นคนของพระนางเอาไว้แล้ว

แต่แล้วความคิดก้าวหน้าของสนมเจินกลับกลายเป็นดาบสองคมที่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง จักรพรรดิกวังซวี่ที่เคยอยู่ใต้โอวาทของซูสีไทเฮาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากสนมเจินจึงเริ่มแข็งข้อและต้องการชิงอำนาจบริหารมาไว้ในมือให้สมฐานะจักรพรรดิซึ่งเท่ากับเป็นการพยายามลบล้างอำนาจของซูสีไทเฮา

ยุคมืดของสนมเจินมาเยือนเมื่อซูสีไทเฮาสบโอกาสส่งนางเข้าตำหนักเย็น กระทั่งถึงเหตุการณ์กองทหารผสมแปดชาติบุกยึดกรุงปักกิ่งและกำลังจะเข้าสู่พระราชวังต้องห้าม จักรพรรดิกวังซวี่ ซูสีไทเฮาและเหล่าข้าราชบริพารเตรียมลี้ภัยไปยังเมืองซีอาน ซูสีไทเฮาเบิกสนมเจินมาเฝ้าพร้อมกับประทานรับสั่งสุดท้ายให้สนมเจินจบชีวิตลงเสียเพื่อรักษาเกียรติ

แม้สนมเจินจะดิ้นรนร้องขอชีวิตอย่างไรก็ไม่เป็นผล ด้านจักรพรรดิกวังซวี่ที่รักพระนางมากแต่กลับทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายซูสีไทเฮาจึงรับสั่งให้ขันทีจับตัวสนมเจินทิ้งลงไปในบ่อน้ำนอกตำหนักหนิงเซี่ย (ทางเหนือของพระราชวังต้องห้าม) และสิ้นพระชนม์ด้วยวัยเพียง 24 พรรษา ตรงกับวันที่ 15 สิงหาคม 1900

เหตุการณ์ช่วงสุดท้ายของสนมเจินนั้นมีนักประวัติศาสตร์ออกมาให้ความเห็นที่ต่างออกไป บ้างว่าสนมเจินยอมรับชะตากรรมแต่นางร้องขอให้ซูสีไทเฮาปล่อยจักรพรรดิกวังซวี่เป็นอิสระจนเป็นเหตุให้ซูสีไทเฮาโกรธถึงกับรับสั่งให้ขันทีจับตัวสนมเจินโยนลงไปในบ่อน้ำ บ้างว่าสนมเจินขัดขืนสุดชีวิตและด่าว่าซูสีไทเฮาจนถูกจับโยนลงบ่อน้ำ

แต่ไม่ว่าชีวิตช่วงสุดท้ายของสนมเจินจะเป็นเช่นไรก็นับเป็นเรื่องน่าเสียดายที่นางต้องจบชีวิตลงอย่างน่าสงสาร สนมเจินมีความใฝ่รู้ในสิ่งที่แปลกใหม่ ทว่านางกลับอยู่ผิดที่ผิดเวลา ความคิดก้าวหน้าของนางสวนทางกับแนวอนุรักษ์นิยมของซูสีไทเฮาอย่างสิ้นเชิง สุดท้ายนางจึงต้องมีจุดจบที่น่าเศร้าและรันทดเช่นนี้