หลี่ไป๋ (Li Bai: 李白) กวีจีนนามกระฉ่อนในสมัยราชวงศ์ถังผู้มีความเป็นอัจฉริยะผสมผสานความโรแมนติกจนได้รับการยกย่องให้เป็น ‘เซียนแห่งกวี’ (詩仙) โดยหลี่ไป๋เป็นหนึ่งในสองกวีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในบรรดากวีจีนสมัยราชวงศ์ถังซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของกวีร่วมกับท่านตู้ฝู รวมทั้งยังถูกยกให้เป็นสามสิ่งมหัศจรรย์สมัยราชวงศ์ถังอันประกอบไปด้วย บทกวีของหลี่ไป๋ เพลงดาบของเผยหมินและตัวอักษรของจางซวี่


หลี่ไป๋ (Li Bai: 李白)

หลี่ไป๋เกิดเมื่อปี 701 บริเวณชายแดนซุ่ยเย่บนเส้นทางสายไหม ประเทศคีร์กีซสถาน (ไม่มีการยืนยันว่าครอบครัวของท่านเดินทางไปทำการค้าเองหรือเป็นเพราะถูกเนรเทศ) บิดาของท่านนามว่า ‘หลี่เค่อ’ (Li Ke) เป็นพ่อค้าที่ประสบความสำเร็จอย่างมากจากการทำการค้าบริเวณชายแดน ฐานะครอบครัวจึงจัดได้ว่าร่ำรวยมีอันจะกิน เมื่ออายุได้ 5 ขวบ ครอบครัวของท่านจึงได้ย้ายมาตั้งรกรากบนแผ่นดินใหญ่ในเมืองเจียงโหวย มณฑลเสฉวน

แม้แนวความคิดของหลี่ไป๋จะได้รับอิทธิพลจากปรัชญาขงจื๊อและลัทธิเต๋า แต่บทประพันธ์ของท่านกลับไร้กฎเกณฑ์อันสะท้อนถึงตัวตนของท่านที่รักอิสระและหลงใหลการร่ำสุรา

เมื่ออายุได้ 25 ปี ท่านเริ่มออกเดินทางไปทั่วแผ่นดินพร้อมกับแต่งบทกวีพรรณนาความงดงามของสถานที่ต่างๆ พบพานมิตรสหายและแลกเปลี่ยนความคิดผ่านการแลกจอกสุรา รวมทั้งได้พบกับสหายนักกวี ‘ตู้ฝู’ ผู้เป็นยอดกวีแห่งยุคเช่นกัน

ช่วงชีวิตหนึ่งหลี่ไป๋เคยได้รับโอกาสโลดแล่นอยู่ในราชสำนักโดยหวังจะใช้ความรู้ความสามารถที่มีในการช่วยบ้านเมือง แต่จักรพรรดิเสวียนจงกลับมองเห็นท่านเป็นเพียงกวีแถมบรรดาขุนนางก็ไม่ยินดีต่อตัวท่านนัก สุดท้ายท่านจึงต้องอำลาราชสำนักด้วยความรู้สึกผิดหวัง

กระนั้นบทบาททางการเมืองของหลี่ไป๋ก็ยังไม่จบลงเมื่อท่านให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏแต่แผนการโค่นอำนาจล้มเหลวท่านจึงถูกเนรเทศไปยังจางเคอ (Zangke) ก่อนที่จะได้รับการอภัยโทษในเวลาต่อมา

ในปี 762 หลี่ไป๋ผู้มีสภาพอาวุโสเกินกว่าวัยมากจากไปด้วยวัย 61 หลังจากนอนป่วยด้วยอาการพิษสุรา แต่ในโลกแห่งกวีมีการเติมแต่งเรื่องราวการเสียชีวิตของท่านให้พิสดาร

กล่าวกันว่าในคืนพระจันทร์เต็มดวง หลี่ไป๋ในชุดขุนนางเต็มยศล่องเรือร่ำสุราจนเมามายได้ที่ไปตามลำน้ำแยงซี ท่านมองเห็นเงาพระจันทร์สะท้อนอยู่บนผิวน้ำจึงโน้มกายลงไปหมายจะคว้าขึ้นมาเชยชม

แต่แล้วท่านก็พลัดตกจากเรือจมลงไปในน้ำและเสียชีวิตจนกลายเป็นเรื่องเล่าหลี่ไป๋ไล่คว้าเงาจันทร์...

แม้หลี่ไป๋จะจากไปแต่ผลงานของท่านจำนวนนับพันชิ้นยังคงอยู่รอดมาถึงปัจจุบันซึ่งถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทั้งในแง่วรรณกรรมและประวัติศาสตร์ บทประพันธ์ของท่านไม่เพียงได้รับการยอมรับในหมู่ชาวจีนแต่ยังถูกเผยแพร่ไปยังโลกตะวันตกโดย ‘Jean Joseph Marie Amiot’ มิชชั่นนารีชาวฝรั่งเศสเป็นผู้เปิดประเด็นให้โลกได้รับรู้

ต่อมาจึงมีการนำผลงานของท่านมาแปลเป็นภาษาต่างประเทศจนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในแวดวงวรรณกรรมตะวันตก