จักรพรรดิถังไท่จง (Emperor Taizong of Tang: 唐太宗) พระมหากษัตริย์ลำดับที่สองแห่งราชวงศ์ถัง ผู้ที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางจากนักประวัติศาสตร์ว่าพระองค์เป็นมหาจักรพรรดิ เนื่องด้วยพระปรีชาสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยพระองค์มักจะรับฟังความเห็นของเหล่าขุนนางอยู่เสมอจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นสู่ยุคแห่งความรุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์จีน


จักรพรรดิถังไท่จง (Emperor Taizong of Tang: 唐太宗)
ภาพ: Weaving a Tale of Love

จักรพรรดิถังไท่จงเป็นบุตรชายคนรองของ "หลี่ยวน" (จักรพรรดิถังเกาจู่) พระนามเดิมว่า "หลี่ซื่อหมิน" (Li Shimin: 李世民) ประสูติเมื่อวันที่ 28 มกราคม 598 ขึ้นครองราชย์ด้วยวัย 28 และสวรรคตในวันที่ 10 กรกฎาคม 649 พระศพฝังอยู่ที่สุสานหลวงเจา (Zhao Mausoleum) ในมณฑลส่านซี

ย้อนกลับไปในช่วงปลายราชวงศ์สุย สืบเนื่องจากการปกครองที่ล้มเหลวของสุยหยางตี้ ราษฎรได้รับความทุกข์เข็ญจนเกิดการก่อกบฏขึ้นแทบทั่วทุกหัวระแหง กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้กองทัพตระกูลหลี่นำโดยหลี่ซื่อหมิน, หลี่จื้อเฉิง (พี่ชาย) และหลี่หยวนจี๋ (น้องชาย) ผสานกำลังช่วยหลี่ยวนผู้เป็นบิดาปราบปรามกลุ่มกบฏแล้วสถาปนาราชวงศ์ถังขึ้นมาปกครองแผ่นดินได้สำเร็จ

หลี่ซื่อหมินได้รับตำแหน่ง "ฉินอ๋อง" ขณะที่หลี่จื้อเฉิงได้รับตำแหน่งรัชทายาทโดยชอบธรรมในฐานะโอรสองค์โต สายสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องถึงจุดแตกหักเมื่อบรรดาขุนนางต่างชื่นชมฉินอ๋องจนรัชทายาทเกิดความหวาดระแวง เว่ยเจิงแนะนำให้รัชทายาทกำจัดหลี่ซื่อหมินแต่หลี่ซื่อหมินรอดพ้นไปได้ทุกครั้ง สุดท้ายกลายเป็นฝ่ายรัชทายาทที่พลาดท่าถูกจัดการลงในเหตุการณ์ประตูเสวียนอู่

หลี่ซื่อหมินบังคับให้บิดาแต่งตั้งตนเองเป็นรัชทายาท ต่อมาเมื่อจักรพรรดิถังเกาจู่สละราชสมบัติทำให้หลี่ซื่อหมินขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิถังไท่จงในวันที่ 4 กันยายน 626 โดยตลอดรัชสมัยพระองค์ได้สร้างรูปแบบการปกครองที่เปิดโอกาสให้เหล่าขุนนางสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ ตรงไปตรงมา วิจารณ์และตำหนิติเตียนพระองค์ซึ่งหน้าได้ แต่ห้ามวิจารณ์ลับหลัง...

กล่าวกันว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ถังไท่จงล้มป่วยลงนั้นเป็นผลมาจากการที่โอรสของพระองค์แย่งชิงตำแหน่งรัชทายาทจนถึงขั้นทำร้ายทำลายกันเอง โดยพระองค์มีโอรสที่เกิดจากพระนางจางซุนสามองค์ ได้แก่ "หลี่เฉิงเฉียน" (โอรสองค์โต), "หลี่ไท่" (โอรสองค์รอง) และ "หลี่จื้อ" (โอรสองค์เล็ก)

หลี่เฉิงเฉียนเป็นโอรสองค์โตจึงได้ตำแหน่งรัชทายาทโดยปริยาย แต่ตัวเองกลับหวาดระแวงน้องชายทั้งสองซึ่งมีความสามารถมากกว่าตัวเองจึงคิดก่อการกบฎยึดอำนาจจากบิดาให้รู้แล้วรู้รอด แต่แผนการถูกเปิดเผยเสียก่อนจึงถูกปลดเป็นสามัญชนและสิ้นพระชนม์ระหว่างถูกเนรเทศ

หลี่ไท่คิดว่าตัวเองจะได้ตำแหน่งรัชทายาทจึงสร้างภาพคบหาผู้มีความรู้เพื่อให้ถังไท่จงเห็นถึงความมีคุณธรรมของตนเอง แต่อัครมหาเสนาบดีจ่างซุนอู๋จี้มองออกว่าหลี่ไท่เป็นคนโหดเหี้ยมจึงไม่เหมาะกับตำแหน่งรัชทายาท ด้านหลี่ไท่ร้อนรนทนนิ่งไม่ไหวจึงคิดก่อการกบฏ สุดท้ายจึงตามรอยหลี่เฉิงเฉียนด้วยการถูกปลดเป็นสามัญชนและสิ้นพระชนม์ระหว่างถูกเนรเทศ

แม้ปัญหาจะจบลงด้วยการแต่งตั้งหลี่จื้อเป็นรัชทายาท แต่ความบอบช้ำทางใจที่เห็นโอรสทำร้ายกันเองส่งผลให้อาการป่วยของพระองค์ทรุดหนักลง

ป่วยกายไม่เท่าไหร่แต่ป่วยใจนั้นสาหัสกว่ากันหลายเท่านัก ถังไท่จงรู้ดีว่าหลี่จื้อเป็นคนมีความสามารถและคุณธรรมมากกว่าพี่ชายทั้งสอง พระองค์ฝากฝังอัครมหาเสนาบดีให้ช่วยเหลือองค์ชายหลี่จื้อปกครองแผ่นดินในภายภาคหน้า ก่อนที่พระองค์จะสวรรคตเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 649