เกาะอีสเตอร์เป็นเกาะเล็กๆตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวทางตะวันออกของหมู่เกาะโพลินีเซีย ประเทศชิลี ชาวพื้นเมืองเรียกที่นี่ว่า "ราปานุย" (Rapa Nui) คาดกันว่าในอดีตนั้นเกาะอีสเตอร์เป็นเกาะที่อุดมไปด้วยทรัพยากรป่าไม้แต่ก็ถูกใช้ไปจนหมดเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างรูปสลักหินทำให้ปัจจุบันเหลือประชากรที่อาศัยอยู่บนเกาะเพียงแค่หลักพันคนเท่านั้น
ชื่อเกาะอีสเตอร์นั้นมีที่มาจากนักสำรวจชาวดัตช์เดินทางมาถึงเกาะนี้ในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ในปี 1722 จึงได้ตั้งชื่อให้ใหม่และเป็นชื่อที่เรียกมาจนถึงทุกวันนี้ พร้อมกับปริศนาที่ทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีต่างตั้งข้อสงสัยมาเป็นเวลานาน
"โมอาย" หรือ "โมไอ" ถูกสร้างขึ้นเพื่อประดับศาลเทพเจ้าบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรที่เรียกว่า "อาฮู" (Ahu) โดยอาฮูนี้นอกจากจะเป็นศาลเจ้าแล้วก็ยังเป็นสุสานในเวลาเดียวกัน รูปร่างของโมอายนั้นคาดว่าอาจจะมีต้นแบบมาจากใบหน้าของหัวหน้าเผ่าหรือบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว
รูปสลักโมอายนั้นมีทั้งส่วนหัวและส่วนฐาน แต่ที่เราได้เห็นกันก็คือรูปสลักที่โผล่ขึ้นมาเฉพาะส่วนตั้งแต่หน้าอกขึ้นไปถึงส่วนศีรษะเพราะส่วนฐานนั้นถูกฝังอยู่ใต้ดิน
แท่งหินโมอายนั้นคาดกันว่าถูกสร้างในช่วงปี 1250 ถึง 1500 และสร้างมาเรื่อยมาจนกระทั่งชาวยุโรปกลุ่มแรกเดินทางไปถึงเมื่อศตวรรษที่ 18 จึงได้หยุดสร้าง รูปสลักโมอายตั้งอยู่ให้เห็นทั่วไปบนเกาะอีสเตอร์ บางตำแหน่งมีการจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบซึ่งต้องยกย่องในภูมิปัญญาของคนโบราณที่คิดวิธีเคลื่อนย้ายได้โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายซึ่งยังไม่อาจหาข้อสรุปที่เป็นเอกภาพได้ว่าพวกเขาเคลื่อนย้ายกันอย่างไร
ความน่าสนใจของเกาะอีสเตอร์อีกอย่างหนึ่งคือ "ตำนานมนุษย์ปักษี" (Birdman) หรือก็คือวิธีการคัดเลือกผู้นำขึ้นมาปกครองโดยการให้แต่ละเผ่าส่งตัวแทนวิ่งลงจากหน้าผาสูงชันแล้วว่ายน้ำฝ่าดงฉลามไปยัง "เกาะโมโตนุย" (Moto Nui) เพื่อเอาไข่กลับมาให้หัวหน้าเผ่า เผ่าที่ได้รับชัยชนะจะได้สิทธิ์ในการปกครองเป็นเวลา 1 ปี โดยเรื่องนี้เป็นตำนานที่เล่าต่อกันมาแต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องจริง