เดิมวัดต้าฉือเอินเป็นอารามสมัยราชวงศ์สุยที่ถูกปล่อยรกร้าง ต่อมาองค์ชายหลี่จื้อรับสั่งให้บูรณะเพื่อถวายและทดแทนพระคุณมารดา โดยมีการนิมนต์พระเสวียนจั้งมาเป็นเจ้าอาวาสหลังเสร็จสิ้นภารกิจอัญเชิญพระไตรปิฎกมาจากอินเดีย
ด้านในวิหารของวัดเป็นที่ประดิษฐานพระศากยมุณีและสาวกที่มีความวิจิตรงดงามมาก บริเวณลานวัดมีรูปปั้นพระถังซำจั๋งองค์ใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่เป็นสัญลักษณ์ของวัดคู่กับเจดีย์ห่านป่าใหญ่
"เจดีย์ห่านป่าใหญ่" (Big Wild Goose Pagoda: 大雁塔) สร้างเมื่อปี 652 ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนผสมอินเดีย ใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกที่อัญเชิญมาจากอินเดีย รวมทั้งพระคัมภีร์ที่แปลเป็นภาษาจีนแล้วและรูปสลักพระพุทธเจ้า โดยโครงสร้างส่วนใหญ่มาจากการบูรณะเมื่อปี 704 สมัยพระนางบูเช็กเทียน
มีตำนานกล่าวกันไว้ว่าในอดีตเคยมีฝูงห่านบินผ่านมาบริเวณนี้และมีห่านตัวหนึ่งตกลงมาตาย เข้าใจว่าห่านตัวนั้นคือโพธิสัตว์จำแลงมาจึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นตรงบริเวณดังกล่าว
พระเสวียนจั้งเป็นผู้ออกแบบเองโดยมีต้นแบบมาเจดีย์ประเทศอินเดียซึ่งในตอนแรกเจดีย์มี 5 ชั้น แต่หลังจากได้รับการบูรณะใหม่ในสมัยราชวงศ์หมิงด้วยการเสริมส่วนที่เป็นอิฐเข้าไปทำให้กลายเป็นเจดีย์ 7 ชั้น ดังที่เห็นในปัจจุบัน