ซ่างกวนหว่านเอ๋อร์ (Shangguan Wan'er: 上官婉儿) สตรีที่มีชื่อเสียงอย่างมากในหน้าประวัติศาสตร์จีนผู้เป็นทั้งกวี นักเขียนและนักการเมืองหญิงที่มีความโดดเด่นในสมัยราชวงศ์ถัง ความรู้ความสามารถของนางเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับมาจวบจนปัจจุบัน


ซ่างกวนหว่านเอ๋อร์ (Shangguan Wan'er: 上官婉儿)

ซ่างกวนหว่านเอ๋อร์ (ซ่างกวนหว่านเอ๋อ) เกิดเมื่อปี 664 นางเป็นหลานสาวของ "ซ่างกวนอี๋" อัครเสนาบดีในรัชการจักรพรรดิถังเกาจง บิดานาม "ซ่างกวนถิงจือ" และมารดานาม "ท่านผู้หญิงเจิง" ซึ่งเป็นทายาทตระกูลขุนนางที่มีเกียรติภูมิ

เหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ทำให้ชีวิตของหว่านเอ๋อร์พลิกผันเกิดขึ้นเมื่อจักรพรรดิถังเกาจงรู้สึกไม่พอพระทัยที่อำนาจบริหารทุกอย่างตกอยู่ในกำมือของพระนางบูเช็กเทียน พระองค์จึงปรึกษาซ่างกวนอี๋และได้รับคำแนะนำให้ปลดบูเช็กเทียนลงจากอำนาจเสีย

อย่างไรก็ตาม เมื่อบูเช็กเทียนรู้เรื่อง พระเจ้าถังเกาจงจึงโบ้ยความผิดทั้งหมดให้ซ่างกวนอี๋ บูเช็กเทียนจึงกล่าวหาว่าซ่างกวนอี๋ร่วมมือกับ "หลี่จง" โอรสองค์โตของถังเกาจงเพื่อล้มล้างอำนาจโดยลงโทษประหารซ่างกวนอี๋ ซ่างกวนถิงจือผู้เป็นบุตรชายถูกบังคับให้ปลิดชีวิตตัวเองตามไป ส่วนหว่านเอ๋อร์และมารดาถูกส่งตัวเข้าไปเป็นนางกำนัลในวังเมื่อปี 665

ระหว่างเติบโตในวัง หว่านเอ่อร์ร่ำเรียนการเขียนอ่านตำราจากมารดาจนค้นพบความสามารถในการประพันธ์ ครั้นพระนางบูเช็กเทียนพบบทกวีของหว่านเอ๋อร์ในหอสมุดจึงมีพระบัญชาให้หว่านเอ๋อร์เข้าเฝ้า

แม้จะยังเยาว์วัยแต่หว่านเอ๋อร์สามารถแสดงความสามารถในการประพันธ์ได้อย่างไพเราะเสนาะหูเป็นที่ประทับใจพระนางบูเช็กเทียนยิ่งนักจึงแต่งตั้งหว่านเอ๋อร์เป็นเลขนุการส่วนพระองค์ทำหน้าที่ร่างพระราชเสาวนีย์ด้วยวัยเพียง 13 ปี

อนึ่ง พระนางบูเช็กเทียนรู้สึกชื่นชอบในตัวหว่านเอ๋อร์ ความเฉียวฉลาดของหว่านเอ๋อร์ทำให้พระนางบูเช็กเทียนรู้สึกราวกับได้เห็นพระองค์เองในอดีต อีกด้านหนึ่งพระนางบูเช็กเทียนต้องการจับตาดูหว่านเอ๋อร์ว่ามีความคิดล้มล้างอำนาจพระนางเหมือนผู้เป็นปู่หรือไม่

แต่หว่านเอ๋อร์ไม่มีความคิดเช่นนั้นและรู้ดีว่าที่คนในตระกูลถูกลงโทษเป็นเพราะทำความผิดเอาไว้จึงไม่คิดโกรธแค้นพระนางบูเช็กเทียน ดังนั้นยิ่งเวลาผ่านไปพระนางบูเช็กเทียนจึงยิ่งรู้สึกรักและเอ็นดูหว่านเอ๋อร์มากไม่ต่างไปจากที่รัก "องค์หญิงไท่ผิง" ผู้เป็นธิดา

หว่านเอ๋อร์กลายเป็นคนสนิทที่พระนางบูเช็กเทียนจะขาดเสียไม่ได้ เรียกสั้นๆว่า "มือขวา" เมื่อสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดินีในปี 690 หว่านเอ๋อร์จึงได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านการปกครองและการบริหารร่วมด้วยซึ่งตำแหน่งของนางนั้นเทียบได้กับตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ดังนั้นจึงถือได้ว่าซ่างกวนหว่านเอ๋อร์เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์จีน

เมื่อพระนางบูเช็กเทียนเลือกสถาปนา "องค์ชายหลี่เสียน" ขึ้นครองราชย์ครั้งแรกเป็น "จักรพรรดิถังจงจง" (Emperor Zhongzong of Tang) หว่านเอ๋อร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นสนม แต่เพราะจักรพรรดิถังจงจงมีความคิดที่สวนทางกับพระนางบูเช็กเทียนมากเกินไปจึงถูกปลดลงจากบัลลังก์แล้วตั้ง "องค์ชายหลี่ตัน" ขึ้นเป็น "จักรพรรดิถังรุ่ยจง" (Emperor Ruizong of Tang) สืบทอดบัลลังก์

กระทั่งเกิดการรัฐประหารทำให้จักรพรรดิถังจงจงกลับมาครองราชย์อีกครั้งในปี 705 หว่านเอ๋อร์ได้รับการสถาปนาเป็นมเหสีโดยยังคงใช้ความสามารถของนางในการร่างราชโองการและมีส่วนร่วมในการบริหารงานเมือง

ในปี 710 จักรพรรดิถังจงจงสวรรคตซึ่งลือกันว่าเป็นฝีมือของ "จักรพรรดินีเหวย" มเหสีของถังจงจงที่ต้องการครองอำนาจเฉกเช่นพระนางบูเช็กเทียน จักรพรรดินีเหวยร่วมมือกับ "องค์หญิงอันเล่อ" ผู้เป็นธิดาลอบวางยาพิษและยึดอำนาจได้สำเร็จ ส่วนองค์หญิงอันเล่อได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาทหญิง

แต่แผนการครองแผ่นดินของจักรพรรดินีเหวยเป็นอันต้องล้มเหลวเพราะไม่นานหลังจากนั้นองค์หญิงไท่ผิงสนับสนุน "องค์ชายหลี่หลงจี" โอรสจักรพรรดิถังรุ่ยจงนำกองกำลังบุกเข้าวังหลวงสังหารจักรพรรดินีเหวยและองค์หญิงอันเล่อรวมทั้งคนในครอบครัวของจักรพรรดินีเหวยจนหมดสิ้น

แม้หว่านเอ๋อร์จะได้รับราชโองการจากจักรพรรดิถังจงจงให้ไว้ชีวิต แต่หลี่หลงจีปฏิเสธและนำตัวนางไปตัดศีรษะในวันที่ 21 กรกฎาคม ปีเดียวกัน

ซ่างกวนหว่านเอ๋อร์จากไปด้วยวัย 46 ปี แต่ความสามารถที่ฝากเอาไว้ผ่านผลงานยังคงเป็นที่จดจำ ในปี 711 องค์หญิงไท่ผิงแนะนำให้องค์ชายหลี่หลงจีสถาปนานามแก่หว่านเอ๋อร์ว่า "เหวินฮุ่ย" (Wenhui) หมายถึง "สตรีผู้มีจิตใจบริสุทธิ์งดงาม" และสั่งให้รวบรวมผลงานของนางจัดทำออกมาได้ 20 ชุด เพื่อใช้เป็นตำราให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ดังจะเห็นได้ว่าแม้ซ่านกวนหว่านเอ๋อร์จะเป็นอิสตรีแต่ได้รับการยอมรับไม่ต่างไปจากบุรุษเพศเลย


สุสานซ่างกวนหว่านเอ๋อร์ที่มีการค้นพบในปี 2013

ในเดือนกันยายนปี 2013 มีการประกาศถึงการค้นพบสุสานที่มีคำจารึกถึงซ่านกวนหว่านเอ๋อร์บริเวณไม่ไกลจากท่าอากาศยานนานาชาติซีอานเสียนหยาง เมืองเสียนหยาง มณฑลส่านซี

การค้นพบครั้งนี้ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีว่าเป็นสุสานของหว่านเอ๋อร์จริงๆ แต่น่าเสียดายที่สุสานอยู่ในสภาพเสียหายอย่างรุนแรง กระนั้นการค้นพบในครั้งนี้ถือเป็นการค้นพบครั้งใหญ่อีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์อันยาวนานแดนมังกร...