ในวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปีตามปฏิทินจันทรคติ ทั่วญี่ปุ่นจะถูกประดับประดาไปด้วยโคมกระดาษ 5 สี และกระดาษที่เขียนคำอธิษฐานแล้วนำไปแขวนติดไว้บนกิ่งไผ่เพื่อให้สมความปรารถนาอันเป็นสัญลักษณ์ที่รู้จักกันทั่วไปว่านี่คือ "เทศกาลทานาบาตะ" (Tanabata Festival: 七夕) ซึ่งจะถูกจัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ


ตำนานหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้าฉบับญี่ปุ่น

เทศกาลทานาบาตะนั้นจัดขึ้นทั่วประเทศแต่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเห็นจะเป็นงานทานาบาตะในเมืองเซ็นได สำหรับสีของกระดาษที่นำมาประดับต้นไผ่เรียกว่า "ทังซากุ" (Tanzaku) ประกอบด้วยสีฟ้า ชมพู แดง เหลืองและเขียว โดยบางแห่งก็มีการประดับด้วยสีอื่นๆนอกจากนี้ซึ่งสีแต่ละสีจะมีความหมายที่แตกต่างกันไป

สำหรับเทศกาลทานาบาตะนั้นมีที่มาจากตำนานเจ็ดนางฟ้าของจีนโดยอิงตามหลักดาราศาสตร์ที่ดวงดาว 2 ดวงจะโคจรเข้าใกล้กันที่สุดในรอบปีซึ่งเชื่อว่าในวันนี้จะเป็นวันที่ "หญิงทอผ้า" (ดาวเวก้า) จะข้ามทางช้างเผือกมาหา "ชายเลี้ยงวัว" (ดาวอัลแตร์) ตามตำนานความเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่เล่าสืบกันมา

ตำนานหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้าฉบับญี่ปุ่น
เทพผู้ปกครองสวรรค์มีธิดาองค์หนึ่งนามว่า "โอริฮิเมะ" (Orihime) ซึ่งนางได้ทำหน้าที่ทอผ้าอย่างขยันขันแข็งไม่มีขาดตกบกพร่อง เทพผู้ครองสวรรค์เห็นว่าโอริฮิเมะควรพักผ่อนและมีโอกาสได้พบกับความรักบ้างจึงได้แนะนำให้นางได้รู้จักกับ "ฮิโกโบชิ" (Hikoboshi) หนุ่มเลี้ยงวัวผู้ขยันขันแข็งที่อยู่อีกฟากหนึ่งของสวรรค์

เมื่อทั้งสองได้พานพบก็บังเกิดเป็นความรักและลงเอยด้วยการแต่งงานกัน แต่ความรักที่มีมากนั้นกลับทำให้ทั้งโอริฮิเมะและฮิโกโบชิละทิ้งหน้าที่ของตนเองจนบรรดาเทพบนสวรรค์ต้องเดือดร้อน เทพผู้ครองสวรรค์โกรธกริ้วเป็นอย่างมากจึงจับทั้งสองแยกออกจากกัน

โอโตฮิเมะรู้สึกเสียใจมากที่ต้องแยกจากคนรัก นางขอร้องกับบิดาให้ได้พบกับฮิโกโบชิอีกครั้งซึ่งท่านเทพก็ยอมใจอ่อนแต่มีเงื่อนไขว่านางจะต้องทำงานให้เรียบร้อยซึ่งนางก็รับปากและตั้งหน้าตั้งตาทอผ้าอย่างขยันขันแข็งเช่นเดิมจนได้รับอนุญาตให้พบกับฮิโกโบชิได้ปีละครั้งซึ่งตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 นั่นเอง