วันแห่งความรักของจีนไม่ได้มีเพียงแค่ชาวจีนหรือผู้มีเชื้อสายจีนเท่านั้นที่ให้ความสำคัญ แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นเองก็ให้ความสำคัญมากเช่นกันโดยในอดีตนั้นญี่ปุ่นได้รับวัฒนธรรมนี้ไปจนกำเนิดเป็นเทศกาลแห่งความรักเรียกว่า "ทานาบาตะ" อันเต็มไปด้วยสีสัน
สำหรับที่มาของวันแห่งความรักของจีนนั้นกำเนิดมาจากตำนานความรักระหว่าง "หนิวหลาง" (Niulang: 牛郎) หนุ่มเลี้ยงวัวผู้ใสซื่อแต่กลับมีดวงอาภัพเมื่อต้องอาศัยอยู่กับพี่ชายและพี่สะใภ้ใจร้าย ส่วนอีกฝ่ายได้แก่ "จือหนี่" (Zhinü: 织女) บุตรีคนสุดท้องขององค์เง็กเซียนฮ่องเต้ที่มาใช้ชีวิตร่วมกับมนุษย์จนให้กำเนิดบุตรและธิดา
ตำนานหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า (ฉบับย่อ)
หนิวหลางได้ช่วยเหลือวัวแก่ตัวหนึ่งซึ่งความจริงแล้วมันเป็นวัวที่ทำผิดกฎจึงถูกไล่ลงมาจากสวรรค์ (บางตำรากล่าวว่าควาย) วัวแก่บอกกับหนิวหลางถึงเรื่องราวของนางฟ้าทั้ง 7 ที่จะลงมาเล่นน้ำบนโลกมนุษย์ในวันที่ 7 เดือน 7 ว่าหากหนิวหลางเก็บเสื้อผ้าของนางฟ้ามาเก็บเอาไว้นางจะยอมแต่งงานเป็นภรรยาของเขา
เมื่อถึงวันดังกล่าวหนิวหลางจึงแอบเก็บเสื้อผ้าชุดหนึ่งเอาไว้แต่ไม่ทันได้ระวังทำให้นางฟ้าทั้ง 6 รู้ตัวและหนีกลับขึ้นสู่สวรรค์ไปเหลือเพียงจือหนี่องค์เดียวที่ไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่ หนิวหลางขอให้นางแต่งงานด้วยโดยแลกกับเสื้อผ้าในมือซึ่งฝ่ายจือหนี่ยอมตกลงทำให้ทั้งสองกลายเป็นสามีภรรยากัน
หนิวหลางและจือหนี่ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุกโดยมีทายาทชาย 1 หญิง 1 แต่ความสุขที่มีจบลงเมื่อชายาเง็กเซียนฮ่องเต้ทราบความจึงได้มารับตัวนางกลับไป แม้หนิวหลางจะได้หนังวัวแก่มาใช้ในการเดินทางไปหาจือหนี่แต่เขากลับถูกขัดขวางอีกครั้งโดยชายาเง็กเซียนฮ่องเต้ใช้ปิ่นปักผมกรีดท้องฟ้าจนกลายเป็นทางช้างเผือกกั้นเอาไว้
ความเศร้าสะเทือนใจอย่างสุดซึ้งทำให้ฝูงนกกระเรียนที่รู้สึกเห็นอกเห็นใจในความรักของทั้งสองได้รวมตัวกันเป็นสะพานให้หนิวหลางกับจือหนี่ได้ข้ามมาพบกัน แล้วความรู้สึกนี้ก็สื่อไปถึงเง็กเซียนฮ่องเต้และชายาจึงยอมอนุญาตให้ทั้งสองได้พบเจอกันได้ปีละครั้งในวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี
ความประทับใจอันสะท้อนถึงความรักที่มั่นคงของคู่รักมาจนถึงทุกวันนี้สมกับเป็นวันแห่งความรักที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ในวันดังกล่าวทั้งหญิงที่แต่งงานแล้วและยังไม่ได้แต่งงานจะพากันไปไหว้ตาวหนุ่มเลี้ยงวัวที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือและดาวสาวทอผ้าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเพื่อรำลึกถึงความรักของทั้งสอง