‘ตี๋เหรินเจี๋ย’ (Di Renjie: 狄仁傑) อัครมหาเสบาบดีผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์ถัง แม้คนส่วนใหญ่จะรู้จักชื่อของท่านผ่านบทบาทตัวละครในนวนิยาย ภาพยนตร์และซีรีส์สืบสวนสอบสวนโดยการเสริมเติมแต่งเพื่อเพิ่มอรรถรสให้มีความสนุกตื่นเต้นเกินความจริง แต่ประวัติของท่านที่มีการบันทึกเอาไว้นั้นก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันเลยเพราะท่านถือเป็นบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์จีนผู้นำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในยุคราชวงศ์ถัง
ตี๋เหรินเจี๋ยเกิดในตระกูลขุนนางเมื่อปี 630 ในสมัยจักรพรรดิถังไท่จง ท่านมีชื่อรองว่า ‘ไหวอิง’ (Huaiying) ปู่ของท่านเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักบริหารนามว่า ‘ตี๋เซี่ยวซี่’ (Di Xiaoxu) ส่วนบิดาของท่านเคยเป็นผู้ว่าเมืองกุ๋ยโจวนามว่า ‘ตี๋จือซุ่น’ (Di Zhixun) ปัจจุบันคือมหานครฉงชิ่ง โดยทั้งสองท่านต่างก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นขุนนางตงฉินที่น่าเคารพสรรเสริญมากเช่นกัน
ตี๋เหรินเจี๋ยมีความใฝ่เรียนใฝ่รู้มานับแต่วัยเยาว์ ท่านมีปณิธานแน่วแน่ในการอุทิศตนเองเพื่อรับใช้บ้านเมืองเฉกเช่นปู่และบิดา เมื่อผ่านการสอบจอหงวนตี๋เหรินเจี๋ยได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการประจำเมืองเปียนโจวหรือเมืองไคเฟิงในปัจจุบัน
แม้ว่าจะถูกใส่ร้ายป้ายสีจนเกือบต้องออกจากตำแหน่งแต่ท่านก็สามารถล้างข้อกล่าวหาได้โดยขณะนั้นเสนาบดีกรมโยธาธิการนาม ‘หยันลี่เปิ่น’ (Yan Liben) เดินทางไปยังเปียนโจวพอดีจึงทำการสอบสวนและเกิดความรู้สึกชื่นชมในตัวตี๋เหรินเจี๋ยอย่างมากจึงสนับสนุนท่านขึ้นเป็นเจ้าเมืองปิ้งโจวหรือเมืองไท่หยวน
แม้จะมีชื่อรองว่า ‘ไหวอิง’ แต่ท่านก็ไม่เคยไหวอิงง่ายเหมือนชื่อ ตี๋เหรินเจี๋ยได้ชื่อว่าเป็นขุนนางตงฉินผู้เปี่ยมไปด้วยไหวพริบปฏิภาณและคุณธรรม งัดข้อกับข้าราชการกังฉินหลายต่อหลายครั้ง ในปี 676 สมัยจักรพรรดิถังเกาจง ตี๋เหรินเจี๋ยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการศาลสูงสุด
มีเรื่องเล่าว่าท่านทำการพิพากษาคดีความที่ค้างคากว่า 17,000 คดี อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมและไร้ข้อกังขาใดๆภายในเวลาเพียง 1 ปี จนความสามารถของท่านเป็นที่เลื่องลือ
ในฐานะผู้พิพากษาความ ท่านไม่ได้ใช้แค่ข้อบังคับของกฎหมายในการตัดสินแต่ยังใช้หลักคุณธรรมและมนุษยธรรมร่วมด้วย ดังเช่นเหตุการณ์ที่นายพลและพลทหารกระทำความผิดด้วยการตัดต้นไม้บริเวณสุสานจักรพรรดิถังไท่จงโดยไม่ตั้งใจ ความผิดครั้งนี้ร้ายแรงมากจนจักรพรรดิถังเกาจงถึงขั้นพิโรธหนักแต่ตี๋เหรินเจี๋ยยืนกรานคัดค้านหัวชนฝาไม่ให้ลงโทษถึงชีวิต
เมื่อได้รับฟังเหตุผลจักรพรรดิถังเกาจงจึงยอมรับและละเว้นโทษประหาร ด้วยความกล้าหาญทำให้หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นจักรพรรดิถังเกาจงทรงแต่งตั้งตี๋เหรินเจี๋ยเป็นผู้ตรวจการที่มีสิทธิ์ในการคัดค้านทัดทานพระองค์ได้
ในปี 690 จักรพรรดิถังเกาจงสวรรคต บูเช็คเทียนยึดอำนาจแล้วตั้งตนขึ้นเป็นจักรพรรดิหญิงองค์แรกของจีนพร้อมสถาปนาราชวงศ์อู่โจว ตี๋เหรินเจี๋ยไม่เห็นด้วยกับการที่พระนางจะตั้งเชื้อสายสกุลอู่ของพระนางเป็นรัชทายาทจึงทูลคัดค้าน พระนางบูเช็คเทียนจึงทำตามความเห็นของตี๋เหรินเจี๋ยส่งผลให้สถานการณ์การแย่งยิงอำนาจในราชวงศ์ยุติลง พระนางบูเช็คเทียนจึงยิ่งรู้สึกชื่นชมในตัวขุนนางผู้ภักดีรายนี้
15 สิงหาคม 700 ตี๋เหรินเจี๋ยถึงแก่อสัญกรรม การจากไปของท่านยังความเสียใจแก่พระนางบูเช็คเทียนที่ต้องสูญเสียเสาหลักของราชวงศ์ไป
โดยช่วงที่มีชีวิตอยู่ท่านได้แนะนำบุคคลที่มีความสามารถอาทิ จางเจี่ยนจือ (Zhang Jianzhi), เหยาฉง (Yao Chong), หวนเยี่ยนฟ่าน (Huan Yanfan) และจิ้งฮุย (Jing Hui) เข้ามาบริหารงานเมืองและบุคคลเหล่านี้ก็มีบทบาทสำคัญในการปลดพระนางบูเช็คเทียนลงจากบัลลังก์ ส่วนสุสานของตี๋เหรินเจี๋ยตั้งอยู่ที่ด้านตะวันออกของวัดม้าขาวในเมืองลั่วหยาง
บนหลุมศพท่านมีคำจารึกไว้ว่า ‘หลุมฝังศพของตี๋เหรินเจี๋ย อัครมหาเสนาบดีผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์ถัง’ อันแสดงถึงการยกย่องเชิดชูข้าราชการภักดีผู้นี้