ภาพ: จางอ๊กจอง ตำนานรักคู่บัลลังก์ |
จางอ๊กจองได้รับการฝึกฝนและเข้าไปเป็นนางกำนัลของ "พระนางชังรยอล" มเหสีองค์ที่สองของพระเจ้าอินโจ (กษัตริย์องค์ที่ 16 แห่งโชซอน) รูปลักษณ์ของนางถูกกล่าวถึงในพงศาวดารว่างดงามและมีเสน่ห์มากซึ่งไม่น่าผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงเพราะหลังจากพระเจ้าซุกจงได้เห็นก็ทรงโปรดปราณและแต่งตั้งนางเป็นสนมรองขั้นที่สี่ แต่ก็ไม่วายที่นางจะตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของบรรดาขุนนาง
การเมืองในราชสำนักขณะนั้นแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว คือ "ฝ่ายตะวันตก" และ "ฝ่ายใต้" ขุนนางฝ่ายตะวันตกมีมเหสีอินฮยอนเป็นตัวแทน ส่วนฝ่ายใต้ก็กลายเป็นกองกำลังสนับสนุนสนมฮีบิน เส้นทางความยิ่งใหญ่ในวังหลังของสนมจางจึงราบลื่นและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยในปี 1688 นางได้เลื่อนขั้นเป็นสนมเอกขั้นสองและหลังจากให้กำเนิดองค์ชายอียุน (ภายหลังคือ "พระเจ้าคยองจง" กษัตริย์องค์ที่ 20 แห่งโชซอน) นางถือได้ว่ามีความดีความชอบจึงได้เลื่อนขั้นเป็นสนมเอกขั้นหนึ่ง "ชังฮีบิน" (จางฮีบิน)
พระเจ้าซุกจงหมายจะตั้งองค์ชายอียุนที่เกิดจากสนมฮีบินเป็นรัชทายาท แต่ธรรมเนียมปฏิบัติให้สิทธิ์โอรสของมเหสีเป็นรัชทายาทโดยชอบธรรมก่อน ขุนนางฝ่ายตะวันตกและฝ่ายใต้จึงเกิดความขัดแย้ง ภายใต้แรงสนับสนุนของขุนนางฝ่ายใต้ทำให้พระเจ้าซุกจงลดอำนาจขุนนางฝ่ายตะวันตกและขับมเหสีอินฮยอนออกจากวัง แล้วเลื่อนขั้นสนมเอกฮีบินขึ้นเป็นมเหสีแทน องค์ชายอียุนเปลี่ยนสถานะจากโอรสสนมกลายเป็นโอรสมเหสีจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาท
ในปี 1694 ขุนนางฝ่ายตะวันตกที่ถูกเนรเทศถวายฎีกาแก่พระเจ้าซุกจงให้ดูแลอดีตพระมเหสีอินฮยอน พระเจ้าซุกจงรู้สึกผิดจึงคืนตำแหน่งให้มเหสีอินฮยอนและให้มเหสีฮีบินกลับไปเป็นสนมเอกตามเดิม ขณะเดียวกันขุนนางฝ่ายตะวันตกที่ถูกลดบทบาทก็ได้กลับเข้ามามีอำนาจในวังอีกครั้ง ขุนนางฝ่ายใต้ถึงคราวถูกกวาดล้างบ้าง ส่วนตำแหน่งรัชทายาทไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยพระเจ้าซุกจงให้มเหสีรับองค์ชายอียุนเป็นโอรสบุญธรรม
ในปี 1701 มเหสีอินฮยอนสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่มีการค้นพบว่าสนมเอกฮีบินเป็นผู้บงการให้ร่างทรงประกอบพิธีสาปแช่งมเหสีอินฮยอน พระเจ้าซุกจงโกรธมากจึงปลดสนมเอกฮีบินลงจากตำแหน่งแล้วสั่งให้สำเร็จโทษด้วยการดื่มยาพิษในวันที่ 9 พฤศจิกายนปีเดียวกัน ปิดตำนานสาวสามัญชนที่ขึ้นสู่ตำแหน่งนางพญาแห่งยุคโชซอน โดยสุสานของนางเป็นเพียงสุสานธรรมดาเทียบเท่าสามัญชน ภายหลังจึงมีการย้ายสุสานไปไว้รวมกับสนมอื่นๆใกล้พระสุสานหลวง