กีแซง (Gisaeng: Kisaeng: 기생) นางคณิกาในประวัติศาสตร์เกาหลีที่เชี่ยวชาญศิลปะแขนงต่างๆ ได้แก่ ขับร้อง ร่ายรำ ดนตรี เขียนอักษรและแต่งโคลงกลอน (อาจรวมเย็บปักถักร้อยและวิชาแพทย์เข้าไปด้วย)


กีแซง (Gisaeng: Kisaeng: 기생)

หน้าที่หลักของกีแซงได้แก่ การให้ความบันเทิงแก่บุรุษชนชั้นสูง ด้วยวิธีการ "ขายศิลปะ ไม่ขายเรือนร่าง" คล้ายเกอิชาของญี่ปุ่น

ประวัติของกีแซง (คีแซง) มีมาตั้งแต่สมัยโครยอ (918-1392) ในฐานะผู้ให้ความบันเทิงของทางภาครัฐและเริ่มขยายความนิยมไปทั่วประเทศจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม

แม้กีแซงจะอยู่ในชนชั้น "ชอนมิน" (Cheonmin) ซึ่งเป็นชนชั้นต่ำสุดของสังคมระดับเดียวกับ "ทาส" แต่กีแซงก็ได้รับการยอมรับในฐานะศิลปินผู้เชี่ยวชาญศิลปะ

กีแซงเป็นอาชีพที่เข้าได้แต่ออกไม่ได้ เมื่อเป็นแล้วก็ต้องเป็นไปชั่วชีวิต บุตรสาวของกีแซงจะต้องเป็นกีแซงโดยอัตโนมัติและสืบทอดกันไปชั่วลูกชั่วหลาน

กีแซงที่มีความรักกับชนชั้นสูงสามารถแต่งงานได้แต่จะมีสถานะเป็นเพียงอนุและไม่ได้รับการยอมรับทางสังคม เว้นเสียแต่จะแต่งงานกับชนชั้นชอนมินที่มีสถานะต่ำต้อยเท่าเทียมกัน

เดิมทีนั้นกีแซงเป็นอาชีพที่มีเกียรติในฐานะศิลปิน แต่จากการที่มีกีแซงบางส่วนปฏิบัตินอกลู่นอกทางด้วยการขายเรือนร่างแลกรางวัลตอบแทนทำให้ในบางครั้งอาชีพกีแซงจึงมักถูกมองในแง่ลบไม่ต่างไปจากหญิงขายบริการ

แม้จะได้รับการชื่นชมเมื่ออยู่ในหอกีแซง แต่กลับไม่มีใครอยากรับเข้าบ้านอย่างเปิดเผย สำหรับกีแซงที่มีชื่อเสียงและเป็นที่จดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีสามคน ได้แก่

"ฮวางจินยี" กีแซงผู้ได้รับการยอมรับในว่ามีความสามารถไม่แพ้บุรุษ

"ชองนันจอง" กีแซงผู้เป็นมันสมองของพระนางมุนจองในการครองอำนาจ

"จางนกซู" กีแซงผู้ได้ชื่อว่างามล่มเมืองจนขุนนางต้องลุกขึ้นมาโค่นอำนาจพระราชา