ชีหยวน (Qu Yuan: 屈原) มหากวีและนักปกครองผู้รักชาติแห่งยุคจ้านกว๋อซึ่งชาวจีนให้ความเลื่อมใสศรัทธาในความรักและการอุทิศตนเองเพื่อบ้านเมืองตราบจนวาระสุดท้ายของท่าน


ชีหยวน (Qu Yuan: 屈原)

ชีหยวนเป็นชาวรัฐฉู่ เกิดในตระกูลขุนนางชั้นสูงเมื่อ 340 ปีก่อนคริตศักราช ท่านมีความฉลาดรอบรู้ในศาสตร์และศิลป์ บทกวีของท่านได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบทกลอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์จีน

ชีหยวนเป็นขุนนางที่รับใช้ใกล้ชิดกษัตริย์รัฐฉู่ ความรอบรู้และบารมีทำให้ทุกคนต่างพากันเกรงใจให้ความเคารพ ไม่เว้นแม้แต่กษัตริย์ที่ยังต้องหยุดเพื่อรับฟังความคิดเห็นของท่าน

แต่แล้วความซื่อสัตย์ภักดีชนิดไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมของชีหยวนกลับกลายเป็นการสร้างความขัดแย้งรุนแรงแก่บรรดาเจ้าขุนมูลนายที่ต้องการหาผลประโยชน์ใส่ตัว

ชีหยวนถูกบรรดาเจ้าขุนมูลนายใส่ร้ายป้ายสี แม้แต่กษัตริย์รัฐฉู่ที่เคยให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวท่านก็เริ่มเอนเอียงเหินห่างโดยสั่งเนรเทศชีหยวนไปประจำการชายแดน กระนั้นชีหยวนยังคงห่วงใยบ้านเมือง ท่านส่งหนังสือชี้แนะแนวทางการปกครองบ้านเมืองมาถึงกษัตริย์แต่ไร้การตอบสนอง

เมื่อราชสำนักเหลือเพียงขุนนางประจบสอพลอจึงนำมาซึ่งจุดจบของรัฐฉี ชีหยวนแต่งกวีบรรยายถึงความโง่เขลาของเจ้าผู้ปกครองรัฐทิ้งเอาไว้ ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจกระโดดลงแม่น้ำในวันที่ 5 เดือน 5 เมื่อ 278 ปีก่อนคริตศักราช

ภายหลังได้รู้ข่าวการเสียชีวิตของซีหยวน ประชาชนต่างพากันเศร้าเสียใจและพยายามตามหาร่างของท่าน โดยมีการโยนข้าวปลาอาหารลงในแม่น้ำเพื่อหลอกล่อให้สัตว์น้ำมากินเพื่อจะได้ไม่ไปกัดแทะร่างของซีหยวน แต่ไม่ว่าจะพยายามกันมากเพียงใดก็ไม่พบร่างของชีหยวนเลย

กระทั่งมีชาวบ้านฝันเห็นซีหยวนปรากฏกายเพื่อขอบคุณที่ชาวบ้านนำอาหารมาเซ่นไหว้ แต่อาหารเหล่านั้นถูกสัตว์น้ำกินจนหมด ท่านจึงแนะนำให้ใช้ใบไผ่ห่ออาหารให้แน่นแล้วค่อยโยนลงไปในแม่น้ำ

เมื่อสัตว์น้ำเห็นอาหารที่ห่อด้วยใบไผ่จึงคิดว่าเป็นเพียงต้นไม้ใบหญ้า แต่ยังมีอาหารบางส่วนถูกสัตว์น้ำแย่งไปกิน ซีหยวนจึงแนะนำอีกครั้งว่าเวลาที่นำอาหารไปโยนให้ตกแต่งเรือเป็นรูปมังกรเพื่อหลอกให้สัตว์น้ำเห็นว่าอาหารที่โยนลงไปนั้นเป็นเครื่องเซ่นไหว้มังกร จะได้ไม่มาแย่งไปกิน

หลังจากนั้นชาวบ้านจึงทำตามคำแนะนำของชีหยวนและกลายเป็นต้นกำเนิด "เทศกาลบ๊ะจ่าง" ที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน…