ภาพ: Grantourismot Travels |
ปราสาทหินนครวัดเริ่มสร้างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 รวมเวลาก่อสร้างกว่า 100 ปี
แรกเริ่มเดิมทีนครวัดเป็นเทวสถานของศาสนาฮินดูซึ่งสร้างถวายแด่พระวิษณุ (พระนารายณ์) แต่ภายหลังเปลี่ยนเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และเป็นศาสนสถานเพียงแห่งเดียวที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน
แผนผังนครวัดสร้างได้สัดส่วนตามรูปทรงเรขาคณิตโดยสถาปนิกขอมโบราณใช้ความชำนาญในการกะด้วยสายตาเท่านั้นจึงนับเป็นสถาปัตยกรรมขอมชั้นสูงทั้งในเชิงศิลปะ ดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์
นครวัดเป็นปราสาทแห่งเดียวในเขตพระนครที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ตัวปราสาทมีขนาดใหญ่ถึง 1.9 ล้านตารางเมตร ล้อมรอบด้วยคูน้ำทั้ง 4 ด้าน เปรียบได้กับเขาพระสุเมรุที่ล้อมรอบด้วยมหาสมุทรอันเป็นสัญลักษณ์ของระบบสุริยจักรวาลตามคติฮินดูซึ่งเปรียบนครวัดเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล
นครวัดมีกำแพงล้อมรอบยาว 1,000 เมตร กว้าง 850 เมตร ปรางค์ประธานของปราสาทสูง 65 เมตร ยาว 100 เมตร และกว้าง 80 เมตร ประกอบด้วยปราสาท 5 หลัง ตั้งเป็นฐาน 4 หลังและอีก 1 หลังตั้งอยู่บนฐานตามความเชื่อที่ว่าเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล
การก่อสร้างนครวัดต้องใช้ต้นเสาหินรวมกัน 1,800 ต้น เสาแต่ละต้นมีน้ำหนักมากกว่า 10 ตัน หินปริมาตรหลายล้านลูกบาศก์เมตรถูกนำมาจากเทือกเขาพนมกุเลนซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งของนครวัดกว่า 50 กิโลเมตร ต้องใช้ช้างนับพันเชือกในการขนย้าย (งานช้างของจริง)
ปรางค์ประธานของปราสาทสูง 65 เมตร เรียกว่า "ชั้นสวรรค์" ใช้เป็นที่ประทับขององค์เทพ ในอดีตมีเพียงกษัตริย์และนักบวชเท่านั้นที่สามารถขึ้นมาบนนี้ได้เพื่อทำพิธีบูชาเทพตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ทางเดินขึ้นมีความชันมากแต่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจะต้องปีกขึ้นไปด้านบน
บันไดที่แคบและชันเชื่อกันว่าเพื่อให้ผู้ที่จะขึ้นไปแสดงความเคารพ เมื่อมาถึงด้านบนของปราสาทจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้โดยรอบนับเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดของนครวัด
กำแพงด้านนอกของปราสาทมีผลงานภาพแกะสลักหินเป็นเรื่องราวตามคติฮินดูโดยช่างฝีมือกว่า 5,000 คน ใช้เวลาในการแกะสลักนาน 40 ปี
นอกจากนี้ยังมีรูปแกะสลัก "นางอัปสร" หรือ "อัปสรา" เปลือยอกประมาณ 1,800 นาง อยู่ในอิริยาบถที่แตกต่างกัน แต่น่าเสียดายที่รูปสลักจำนวนมากถูกนักท่องเที่ยวลูบคลำหน้าอกจนหินมีความมันวาวและบางส่วนก็ได้รับความเสียหาย ไม่รู้ว่าตอนที่ลูบคลำนั้นคิดอะไรกันอยู่...