หินสลักต้าจู๋ (Dazu Rock Carvings: 大足石刻) ประติมากรรมถ้ำโบราณสุดอลังการในนครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับการขึ้นนทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี 1999 จากองค์การยูเนสโก แม้จะไม่ได้ถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสี่ประติมากรรมถ้ำที่สำคัญที่สุดของจีน แต่ความยิ่งใหญ่นับว่าไม่ได้ด้อยค่าไปกว่ากัน


หินสลักต้าจู๋ (Dazu Rock Carvings)

ศิลปกรรมแกะสลักหน้าผาต้าจู๋ตั้งกระจายอยู่ในบริเวณเทือกเขาสำคัญ 5 ลูกได้แก่ เป่ยซาน (Beishan) เป๋าติ่งซาน (Baodingshan) หนันซาน (Nanshan) สือจ้วนซาน (Shizhuanshan) และสือเหมินซาน (Shimenshan) โดยทั่วบริเวณนี้มีผลงานรูปปั้นสลักกว่า 60,000 ชิ้น ศิลาจารึกอักษรจีนอีกกว่า 1 แสนตัวอักษร

ผลงานแกะสลักนี้เริ่มสร้างในสมัยราชวงศ์ถังและสานต่อมายังราชวงศ์หมิง โดยผลงานสลักแต่ละจุดนั้นจะเป็นการผสมผสานความเชื่อระหว่างพุทธศาสนา ลัทธิเต๋าและหลักปรัชญาขงจื๊อเข้าด้วยกัน แต่จะเน้นไปพุทธศาสนาเป็นหลักเนื่องจากพุทธศาสนาในยุคนี้มีความรุ่งเรืองมาก

รูปสลักที่เห็นนั้นจะใช้วิธีการเจาะเข้าไปแล้วสลักออกมาเป็นผลงานที่ละเอียดอ่อนทั้งพระพุทธรูปและเหล่าทวยเทพดาตามความเชื่อของแต่ละลัทธิซึ่งบอกได้คำเดียวว่าหากได้มาสัมผัสด้วยตนเองแล้วจะต้องทึ่งและชื่นชมในภูมิปัญญาช่างสลักจีนที่สามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงานเช่นนี้