ย้อนกลับไปในสมัยราชวงศ์ถังซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งยุคทองของประวัติศาสตร์จีน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาในหลายๆด้านนั้นนอกจากพระปรีชาสามารถขององค์จักรพรรดิถังไท่จงผู้ยิ่งใหญ่แล้วก็ต้องยกความดีความชอบให้ "เว่ยเจิง" (Wei Zheng: 魏徵) มหาบุรุษคู่บัลลังก์ผู้เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนเงาขององค์จักรพรรดิ
ในบรรดายอดกุนซือผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีนเชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นชื่อของเว่ยเจิงกันมาบ้าง เรื่องราวของท่านนับได้ว่าน่าสนใจมากเลยทีเดียวโดยเฉพาะการที่ท่านเคยเป็นตัวตั้งตัวตีในการยุยงองค์รัชทายาทให้สังหารอ๋องฉิน แต่สุดท้ายกลับเป็นเขาเองที่กลายเป็นฝ่ายช่วยเหลืออ๋องฉินปกครองบ้านเมือง
เว่ยเจิงเกิดเมื่อปี 580 ในมณฑลเหอเป่ย แม้จะเป็นบัณฑิตที่เกิดในครอบครัวฐานะยากจนแต่ด้วยนิสัยใฝ่รู้บวกกับสติปัญญาที่เหนือกว่าคนธรรมดาทั่วไปจึงทำให้เขาก้าวหน้าขึ้นมาจนมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วแผ่นดินด้วยอาวุธเด็ดที่เขาพกติดตัวมานั่นคือมันสมองและฝีปากที่มักเสียบเข้าตรงกลางใจจนมีการเปรียบไว้ว่าท่านคือขงเบ้งกลับชาติมาเกิด
สำหรับวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ของเว่ยเจิงนั้นเริ่มจากในช่วงปลายราชวงศ์สุยที่เริ่มสั่นคลอนทั้งศึกนอกและศึกใน เว่ยเจิงตระหนักดีว่าผู้ที่มีอำนาจทางทหารและมีคุณธรรมเป็นที่ยอมรับของราษฏรในการปกครองแผ่นดินต่อไปได้มีเพียงตระกูลหลี่ เขาจึงอุทิศตัวช่วยเหลือตระกูลหลี่อย่างสุดกำลังในฐานะที่ปรึกษาจนในที่สุดตระกูลหลี่ก็สถาปนาราชวงศ์ถังขึ้นปกครองได้สำเร็จ
แม้จะได้ผู้มีคุณธรรมเข้ามาปกครองแผ่นดินแต่ปัญหาใหญ่ที่ทำให้เว่ยเจิงต้องกลุ้มใจก็มาเยือนนั่นคือการแต่งตั้งรัชทายาท ในขณะนั้นจักรพรรดิถังเกาจู่มีโอรส 3 พระองค์คือ "หลี่เจี้ยนเฉิง" "หลี่ซื่อหมิน" และ "หลี่หยวนจี๋"
เว่ยเจิงรู้ดีว่าในบรรดา 3 พี่น้องนั้นหลี่ซื่อหมินมีความสามารถเหนือกว่าใครๆ แต่เมื่อลองย้อนดูการล่มสลายของราชวงศ์ก่อนๆที่ไม่ยอมเลือกโอรสคนโตเป็นรัชทายาทเขาจึงต้องการหลีกเลี่ยงและสนับสนุนหลี่เจี้ยนเฉิงเป็นรัชทายาท
การแต่งตั้งองค์รัชทายาทเป็นไปด้วยดีโดยเว่ยเจิงถูกตั้งให้เป็นที่ปรึกษา แต่กระนั้นปัญหากลุ้มใจของเขาก็ยังคงไม่จบสิ้นอันเนื่องจากการที่หลี่ซื่อหมินยังคงอยู่แถมขุนนางบุ๋น-บู๊จำนวนไม่น้อยก็ให้การสนับสนุน เว่ยเจิงคิดตัดไฟแต่ต้นลมจึงแนะนำให้รัชทายาทหาทางลอบสังหารหลี่ซื่อหมินเสียแต่แผนการกลับล้มเหลวและรัชทายาทกลับเป็นฝ่ายถูกสังหารในเหตุการณ์ประตูเสวียนอู่
เว่ยเจิงถือได้ว่าเป็นตัวการใหญ่ในแผนการลอบฆ่าหลี่ซื่อหมิน แต่เมื่อพิจารณาแล้วสิ่งที่เขาทำทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อความมั่นคงของราชวงศ์ถังซึ่งจุดนี้เองหลี่ซื่อหมินก็รู้ดีจึงไม่คิดถือโทษโกรธเคืองใดๆ แถมเมื่อหลี่ซื่อหมินได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิถังไท่จงท่านจึงแต่งตั้งเว่ยเจิงเป็นที่ปรึกษาข้างกายที่มีอำนาจคัดค้านพระองค์ได้ในทุกเรื่อง
ด้วยอุปนิสัยที่ตรงไปตรงมาไม่เสแสร้งทำให้มีหลายครั้งที่เว่ยเจิงคัดค้านความคิดเห็นของถังไท่จงต่อหน้าขุนนางน้อยใหญ่อย่างไม่ไว้หน้า แม้บางครั้งถังไท่จงจะโกรธจนแทบอยากจะนำตัวเว่ยเจิงไปประหารแต่เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่าสิ่งที่เว่ยเจิงคัดค้านนั้นไม่ได้ผิดเพี้ยนแต่ประการใด แถมการดำเนินการตามแบบแผนที่เว่ยเจิงได้วางเอาไว้ก็ทำให้ราชวงศ์มีความแข็งแกร่งและรุ่งเรืองอย่างมาก
เว่ยเจิงนั้นเรียกได้ว่าเป็นมหาบุรุษผู้วางรากฐานและคอยประคับประคองราชวงศ์ถังที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัวจนสุดท้ายก็กลายเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดราชวงศ์หนึ่งของจีน ความทุ่มเทของท่านหากเปรียบเทียบเป็นภาพออกมาก็คงเหมือนกับมือขวาขององค์จักรพรรดิที่จะขาดเสียมิได้
แม้เว่ยเจิงจะลาโลกไปเมื่อปี 643 แต่คุณงามความดีที่ได้สร้างไว้จะยังคงอยู่โดยท่านถูกแต่งตั้งเป็น "เหวินเจิน" ซึ่งเป็นตำแหน่งที่องค์จักรพรรดิจะมอบให้กับผู้ที่ทำคุณแก่แผ่นดินซึ่งมีเพียงไม่กี่คนที่ได้รับเกียรตินี้