เมื่อเข้าสู่ค่ำคืนของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ชาวจีนทั่วประเทศจะทำพิธีสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมานับพันปีนั่นคือการออกมาชมและไหว้พระจันทร์ที่เชื่อกันว่าในค่ำคืนนี้จะสามารถมองเห็นพระจันทร์ได้ใหญ่และสว่างที่สุดในรอบปี


ขนมไหว้พระจันทร์


งานเทศกาลไหว้พระจันทร์ (Moon Festival) จะจัดขึ้นในช่วงกลางฤดูใบไม้ผลิในภาษาจีนเรียกว่า "จงชิวเจีย" (Zhongqiu Jie) ซึ่งหมายถึง "เทศกาลกลางฤดูใบไม่ร่วง" (Middle-Autumn Festival) โดยปกตินั้นจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมและสิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยในเทศกาลนี้ก็คือขนมไหว้พระจันทร์ที่ถือเป็นอาหารมงคล

ประวัติเกี่ยวกับต้นกำเนิดของเทศกาลไหว้พระจันทร์นั้นมีหลายเรื่องราวทั้งในเรื่องของตำนานปรัมปราและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การสร้างชาติบ้านเมืองของจีนซึ่งเราขอนำบางเรื่องมาบอกเล่ากัน แต่ไม่ว่าจุดเริ่มต้นที่แท้จริงนั้นจะเป็นอย่างไรก็ไม่สำคัญเท่ากับเสน่ห์ที่ชาวจีนได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา

ตำนานแรกนั้นจะกล่าวถึง "นางเซียงง้อ" หรือที่คนไทยเรารู้จักกันในชื่อ "ฉางเอ๋อ" (Chang’e) เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ที่มีทั้งความงดงามและจิตใจเมตตา เมื่อถึงฤดูเพาะปลูกนางจะพรมน้ำอมฤตยังความอุดมสมบูรณ์ลงมาบนพื้นโลก ชาวบ้านจึงทำพิธีไหว้พระจันทร์เพื่อแสดงความกตัญญูต่อนางในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวันถือกำเนิดของนาง

ทฤษฏีต่อมากล่าวถึงในสมัยราชวงศ์ถังเมื่อจักรพรรดิเสวียนจงทอดพระเนตรดวงจันทร์กลมโตและมีพระประสงค์จะเสด็จไปบนดวงจันทร์ นักพรตลัทธิเต๋านาม "เย่ฝานซาน" จึงประกอบพิธีให้พระองค์ท่องไปบนดวงจันทร์ในวันที่ 15 เดือน 8 เมื่อพระองค์ไปถึงบนดวงจันทร์ก็ได้พบกับเทพธิดากำลังร่ายรำอยู่บนนั้น เมื่อพระองค์ตื่นจากบรรทมจึงมีรับสั่งให้นางสนมแต่งตัวและร่ายรำเลียนแบบเทพธิดา นับแต่นั้นมาจึงมีการจัดเครื่องเซ่นไหว้พระจันทร์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8

สุดท้ายที่เราจะกล่าวถึงคือเหตุการณ์ในช่วงที่ชาวมองโกลปกครองประเทศจีน แผนการลับเพื่อหลบซ่อนจากสายตาทหารมองโกลชาวจีนจึงได้ทำขนมแล้วยัดกระดาษที่มีข้อความลับไว้ภายในและส่งให้กันเพื่อนัดหมายทำการล้มล้างมองโกล ภายหลังสถาปนาราชวงศ์หมิงจึงได้มีการประกอบไหว้พระจันทร์ขึ้นมา