หากใครไปเที่ยวอินเดียแล้วไม่ได้ไปชมความยิ่งใหญ่ของอนุสรณ์สถานความรักอันเลื่องชื่อที่แสดงถึงความรักอย่างสุดซึ้งต่อคนรักที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับคือ “ทัชมาฮาล” (Taj Mahal) แล้วต้องบอกเลยว่าน่าเสียดายยิ่งนัก ทัชมาฮาลแห่งนี้คือสุสานหินอ่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกของพระเจ้าชาห์ ชหาน (Shah Jahan) ที่สร้างให้กับพระมเหสีมุมตัส มาฮาล (Mumtaz Mahal) ผู้ล่วงลับหลังจากให้กำเนิดทายาทองค์ที่ 14 ได้ไม่นานอันเป็นเหตุให้พระองค์เสียพระทัยอยู่นานหลายปีเลยทีเดียว


พระเจ้าชาห์ ชหานกับพระมเหสีมุมตัส มาฮาล

            หลังการก่อสร้างทัชมาฮาลเสร็จสมบูรณ์พระเจ้าชาห์ ชหานมีพระราชดำรัสให้สร้างสุสานของพระองค์เองด้วยหินอ่อนสีดำที่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำยมุนาเพื่อให้เป็นคู่กับทัชมาฮาล แต่โอรสของพระองค์ทราบเรื่องนี้และไม่เห็นด้วยเพราะต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลจึงก่อการชิงราชบัลลังก์ในปี 1658 ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าพระเจ้าชาห์ ชหานเสียสติไปแล้ว พระเจ้าชาห์ ชหานถูกกักขังอยู่ในป้อมอัคราที่สร้างด้วยหินทรายแดงนาน 8 ปีและสิ้นพระชนม์ในปี 1666 พระศพของพระเจ้าชาห์ ชหานถูกฝังอยู่ในทัชมาฮาลเคียงข้างพระมเหสีผู้เป็นที่รัก


ทัชมาฮาล

            ทัชมาฮาลเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่และถูกรับเลือกเป็นมรดกโลกในปี 1983 ตั้งอยู่บนตำแหน่งที่ดีที่สุดริมฝั่งแม่น้ำยมุนา (Yamuna) เมืองอัครา (Agra) ประเทศอินเดีย โครงสร้างของทัชมาฮาลเป็นหินอ่อนสีขาว ศิลาแลง ประดับด้วยเครื่องเพชร พลอยจนได้รับคำยกย่องว่าสร้างขึ้นด้วยสัดส่วนที่วิจิตรงดงามที่สุด มีผู้ร่วมออกแบบก่อสร้างกว่าหมื่นคนและกินเวลาก่อสร้างนาน 22 ปี


Darwaza-i rauza

            ผ่านประตูทางเข้าขนาดใหญ่ (Darwaza-i rauza) ที่สร้างด้วยหินทรายสีแดงมีตัวอักษรโกรานจารึกไว้จะพบกับลานอุทยาน สระน้ำและถนนคอนกรีตมุ่งหน้าตรงไปสู่ตัวอาคาร ส่วนยอดของทัชมาฮาลมีลักษณะโดมที่เรียกว่าโอเนียนโดม ด้านข้างมีโดมขนาดเล็กสี่ด้าน อาคารตั้งอยู่บนลานหินอ่อนสีขาวโล่งกว้าง มุมทั้งสี่ของลานหินมีหอคอยประจำทิศ เรียกว่า “มินาเร่ต์” เป็นที่ป่าวร้องให้ประชาชนสวดมนต์พร้อมกันตามเวลา


หีบพระศพจำลองของพระเจ้าชาห์ ชหานกับพระมเหสี

            ด้านในทัชมาฮาลถูกประดับตกแต่งอย่างงดงาม เบื้องหลังฉากกั้นหินอ่อนทั้งสี่ด้านเป็นหีบพระศพจำลองของพระเจ้าชาห์ ชหานกับพระมเหสีตั้งอยู่คู่กัน ส่วนหีบศพจริงถูกเก็บไว้ด้านล่างลึกลงไปประมาณ 10 เมตร


ทัชมาฮาล

            เบื้องหลังความวิจิตรงดงามนี้คือราชสมบัติส่วนใหญ่กับความทุกข์ทรมานของแรงงานที่ถูกเกณฑ์มาก่อสร้างอย่างไม่มีวันหยุดจนมีผู้ได้บาดเจ็บล้มตายไปเป็นจำนวนมาก บวกกับการขูดรีดภาษีจากราษฎรเพื่อนำมาใช้เป็นทุนในการก่อสร้าง ภายหลังการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ก็มีการสั่งฆ่าสถาปนิกผู้ออกแบบทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้สถาปนิกออกแบบสร้างสถาปัตยกรรมที่งดงามเกินกว่าทัชมาฮาลแห่งนี้