ประเทศญี่ปุ่นมีงานเทศกาลฉลองรื่นเริงให้ได้ชมตลอดทั้งปี งานและเทศกาลจะถูกจัดขึ้นโดยแบ่งตามฤดูกาลที่แตกต่างกันหรือแยกตามพื้นที่ ส่วนคำว่า "เทศกาล" (Festival) ในภาษาญี่ปุ่นจะใช้คำว่า "มัตสึริ" (Matsuri) โดยต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลที่น่าสนใจไล่มาตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิ


เทศกาลฮานามิ (Hanami Festival)

เทศกาลที่น่าสนใจในญี่ปุ่น
• เทศกาลฮานามิ: เทศกาลชมซากุระที่ชาวญี่ปุ่นตั้งหน้าตั้งตารอมากที่สุด เทศกาลฮานามิเป็นงานเทศกาลเดียวที่ไม่สามารถกำหนดวันตายตัวได้เพราะต้องอาศัยปัจจัยทางธรรมชาติ เมื่อซากุระบานแล้วผู้ร่วมงานจะไปนั่งสังสรรค์จิบน้ำชาหรือเหล้าเพื่อซึมซับใต้ต้นซากุระ เทศกาลฮานามิ

• เทศกาลฮินะ: เทศกาลของการอธิษฐานขอพรให้ลูกสาวหรือเด็กผู้หญิงมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต ในช่วงเทศกาลจะมีการประดับตุ๊กตาฮินะซึ่งเด็กสาวจะได้รับจากผู้ปกครองและจะกลายเป็นสมบัติเฉพาะของตัวเองไม่มีการส่งต่อไปยังบุคคลอื่น เทศกาลฮินะ

• เทศกาลคานามาระ: เทศกาลแห่องคชาติแห่งศาลเจ้าคานายามะ จัดขึ้นในวันอาทิตย์แรกของเดือนเมษายนเพื่อรณรงค์ในการป้องกันและหาเงินให้กับงานวิจัยปัญหาโรคเอดส์ สำหรับพระเอกของงานคือองคชาติเหล็กยักษ์สีชมพูสดใสที่จะถูกขบวนแห่นำไปรอบเมือง เทศกาลคานามาระ


เทศกาลวันเด็กผู้ชาย (Children’s Day Festival)

• เทศกาลวันเด็กผู้ชาย: เทศกาลจัดขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคมเพื่อฉลองให้กับเด็กผู้ชาย ครอบครัวที่มีลูกผู้ชายจะประดับตุ๊กตานักรบ ซึ่งประกอบด้วยเสื้อเกราะ หมวกเกราะและอื่นๆ ส่วนหน้าบ้านจะชักธงปลาคาร์ป ใช้ดอกโชบุและคะชิวะ โมะจิในการอธิษฐานขอพรให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ


เทศกาลซันจะ (Sanja Festival)

• เทศกาลซันจะ: เทศกาลเก่าแก่ในสมัยเอโดะจัดขึ้นเพื่อระลึกถึงชายหาปลาสองพี่น้องที่พบรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมในแม่น้ำ งานจัดขึ้นที่ศาลเจ้าอะซากุสะในวันอาทิตย์ที่สามของเดือนพฤษภาคม โดยจะมีการร่ายรำ เล่นดนตรี และขบวนแห่ศาลเจ้าเล็กๆที่เรียกว่า "มิโคจิ" ไปรอบเมือง

• เทศกาลทานาบาตะ: เทศกาลจัดขึ้นตามตำนานว่าวันนี้เป็นวันที่เจ้าหญิงทอผ้าจะข้ามทางช้างเผือกมาหาชายเลี้ยงวัว โดยทั่วทั้งเมืองจะถูกประดับไปด้วยโคมกระดาษ 5 สี นำกระดาษ 5 สีมาเขียนขอพรแล้วนำไปผูกติดไว้ที่ต้นไผ่เพื่อให้ประสบความสำเร็จ เทศกาลทานาบาตะ


เทศกาลกิออน (Gion Festival)

• เทศกาลกิออน: เทศกาลใหญ่ที่สุดในเกียวโตจัดขึ้นวันที่ 16-17 กรกฎาคม ย้อนกลับไปในอดีตที่เกียวโตเคยเกิดโรคระบาดอย่างหนัก มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ประชาชนในแถบเกียวโตไม่มีที่พึ่งทางใจจึงได้จัดขบวนแห่เทพเจ้าในนิกายชินโตและมีการปล่อยสิ่งที่เรียกว่า "โฮโกะ" ลงในแม่น้ำทำให้โรคระบาดหายไป


เทศกาลเทนจิน (Tenjin Festival)

• เทศกาลเทนจิน: งานแห่เทพเจ้าทางบกและทางน้ำของศาลเจ้าเท็มมังงุในวันที่ 24-25 กรกฎาคม จัดขึ้นเพื่ออัญเชิญวิญญาณของเทพเจ้าแห่งศิลปะวิทยาการ ขบวนแห่ทางน้ำจะเริ่มจากการทำพิธีลอยหอกเทพเจ้าไปตามแม่น้ำโอกาว่า เมื่อหอกลอยไปติดที่ฝั่งใด ที่นั่นจะเป็นจุดหมายปลายทางของการล่องเรือแห่เทพเจ้า


เทศกาลเนบูตะ (Nebuta Festival)

• เทศกาลเนบูตะ: เทศกาลในภูมิภาคโทโฮกุและฮอกไกโด แต่ที่มีชื่อเสียงในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเห็นจะเป็นงานเนบูตะของเมืองอาโอโมริและเมืองฮิโรซากิที่จัดในวันที่ 1-7 สิงหาคม ตลอดเทศกาลจะมีการประดับโคมไฟขนาดใหญ่เป็นรูปต่างๆทั้งเทพเจ้า นักรบ ปีศาจและตัวละครคาบูกิ โดยจะมีขบวนแห่ดนตรีพื้นบ้านไปตามถนนภายในเมือง

• เทศกาลโอบ้ง: งานเทศกาลรำลึกถึงผู้ล่วงลับและการรวมครอบครัวในรอบปี จัดขึ้นในช่วงกลางเดือนสิงหาคม (เวลาแตกต่างกันแล้วแต่พื้นที่) เชื่อว่าช่วงเวลาดังกล่าววิญญาณบรรพบุรุษจะลอยมาจากอีกภพ ลูกหลานจึงเตรียมการต้องรับและส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับไป เทศกาลโอบ้ง


เทศกาลยุคสมัย (Jidai Festival)

• เทศกาลยุคสมัย: 1 ใน 3 เทศกาลใหญ่ของเมืองเกียวโต งานเทศกาลจะจัดขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคม ผู้เข้าร่วมขบวนแห่ประมาณ 3,000 คนจะแต่งกายในชุดย้อนยุคเลียนแบบยุคสมัยต่างๆของญี่ปุ่น ส่วนขบวนแห่จะเริ่มตั้งแต่หน้าพระราชวังเกียวโตและไปสิ้นสุดที่ศาลเจ้าเฮอัน


เทศกาล 7-5-3 (7-5-3 Festival)

• เทศกาล 7-5-3: เทศกาลจัดขึ้นวันที่ 15 พฤศจิกายน ผู้ปกครองจะพาบุตรหลานที่เป็นเด็กผู้ชายอายุ 5 ขวบ กับเด็กผู้หญิงอายุ 3 และ 7 ขวบ ไปไหว้ขอพรเทพเจ้าที่ศาลเจ้าชินโตเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงและมีสติปัญญาดี หลังจากเสร็จพิธีผู้ปกครองจะซื้อลูกอมพันปีและเครื่องรางให้เป็นของขวัญ


เทศกาลหิมะซัปโปโร (Sapporo Snow Festival)

• เทศกาลหิมะซัปโปโร: เทศกาลหิมะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จัดขึ้นช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่สวนสาธารณะโอโดริ ย่านการค้าซูซูกิโนะ และซัปโปโรคอมมูนิตี้โดม ในงานจะมีการแสดงประติมากรรมที่สร้างจากหิมะและน้ำแข็งจำนวนมากทั้งจากฝีมือชาวญี่ปุ่นและต่างชาติ


เทศกาลเปลือย (Hadaka Festival)

• เทศกาลเปลือย: เทศกาลเปลือยจัดขึ้นในวันเสาร์ที่สามของเดือนกุมภาพันธ์ตามเมืองต่างๆของญี่ปุ่น ชายหนุ่มที่เข้าร่วมงานจะแต่งกายด้วยผ้าเตี่ยวผืนเดียวและจะมีผู้ร่วมงานหนึ่งคนที่เปลือยกายไม่ใส่เสื้อผ้าแอบซ่อนอยู่ในกลุ่ม เชื่อกันว่าถ้าใครได้สัมผัสตัวชายที่เปลือยกายจะทำให้โชคดีและมีความสุข ในตอนท้ายของงานผู้คนจะเคลื่อนขบวนไปที่วัดในเวลาเที่ยงคืน พระจะโยนไม้สองแท่งไปยังกลุ่มคนเป็นการสื่อความหมายว่าโชคดีและเป็นสัญญาณยุติงาน

ในญี่ปุ่นยังมีเทศกาลที่น่าสนใจอยู่อีกมาก ที่เรานำเสนอนี้เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนเท่านั้นโดยเราจะนำเสนอเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป...